แบงก์รัฐแบกเอ็นพีแอลสูง พยุงลูกค้า-เร่งเครื่องแก้หนี้

หนี้สิน

แบงก์รัฐแบกหนี้เสียก้อนใหญ่ คลังเร่งเดินสายจัดมหกรรมแก้ไข ธ.ก.ส.หลังแอ่น NPL พุ่ง 13% ชี้เกษตรกรเจอวิกฤตซ้ำซ้อน หวัง “ประกันรายได้” ช่วยเพิ่มความสามารถชำระ ขณะที่ ธอส.วางแผนประคองลูกค้าต่อเนื่องถึงปีหน้า ฟากออมสินคาดสิ้นปีหนี้เสียขยับเป็น 2.8% ยันอยู่ระดับบริหารจัดการได้-เร่งตั้งสำรองส่วนเกินรองรับ

แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้เสียของ ธ.ก.ส. มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งโควิด-19, เงินเฟ้อที่มีผลต่อต้นทุนการผลิต และน้ำท่วม จึงทำให้เกษตรกรขาดสภาพคล่อง และประสบปัญหาการชำระหนี้ ทำให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

ล่าสุด (ณ สิ้น ต.ค. 2565) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 13% และหากรวมหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (SM) จะอยู่ที่ 16% อย่างไรก็ดี คาดว่าตั้งแต่ปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งจะเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลได้มีโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว ก็จะมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ดีขึ้น

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปีบัญชี 2565 (1 เม.ย. 2564-30 ก.ย. 2565) NPL อยู่ที่ระดับ 12.5% โดยธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการเข้าไปดูแลด้วยการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ ณ สิ้นปีบัญชี 2565 (31 มี.ค. 2566) NPL จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7% ได้

“ยอมรับว่าสัดส่วน NPL เพิ่มสูงขึ้น เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรเผชิญภาวะข้อจำกัดทางด้านการเงิน ซึ่งหากธนาคารเข้าไปเร่งรัด ก็คงไม่ใช่ เราจึงเข้าไปช่วยดูแลด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 เกษตรกรจะมีรายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรกลับมามีความสามารถในการชำระหนี้”

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า NPL ของ ธอส.มีอยู่ราว 63,300 ล้านบาท ลดลง 1,780 ล้านบาท จากเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา

เนื่องจากลูกหนี้ส่วนใหญ่พ้นจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ แล้วกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรการประคองลูกหนี้ของแบงก์ได้ผล ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปี 2565 นี้ สถานการณ์ NPL ของแบงก์จะลดลงอีกไปอยู่ที่ราว 60,000 ล้านบาท

“คาดว่าหลังจากนี้หนี้เสียจะลดลงไปถึง 5,000 ล้านบาท เนื่องจากเราได้ออกมาตรการดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการ M22 สำหรับลูกค้า NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ/ปรับโครงสร้างหนี้ ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำ

พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ธนาคารออกมา เพื่อแก้ไขหนี้ให้กับลูกค้าตามนโยบายของรัฐบาล โดยขณะนี้มีลูกค้าเข้าร่วมแล้วกว่า 1,000-2,000 ล้านบาท”

นายฉัตรชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มผ่อนคลายแล้ว รายได้ของลูกค้าก็เริ่มกลับมา ก็ช่วยให้ลูกค้ามีความสามารถกลับมาชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ได้ ซึ่งในปี 2566 ธอส.จะออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง ในช่วงครึ่งปีแรกและช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อประคองลูกค้าให้ค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัว

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารออมสิน กล่าวว่า ขณะนี้ออมสินมี NPL อยู่ที่ 2.7% หรือราว 60,000 ล้านบาท ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ หากเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้างรวม 2.2 ล้านล้านบาท และเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ระดับกว่า 3.5% อย่างไรก็ดี คาดว่าถึงสิ้นปีนี้ NPL จะอยู่ที่ 2.8% ซึ่งบริหารจัดการได้ และธนาคารได้ตั้งสำรองส่วนเกินเพื่อรองรับหนี้เสีย และสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไว้แล้ว

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีเงินสำรองส่วนเกินอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 44,000 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2565 นี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 47,000-48,000 ล้านบาท โดยธนาคารมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสำรองส่วนเกินเป็น 55,000 ล้านบาท ตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS 9)” แหล่งข่าวกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงนี้กระทรวงการคลังและบรรดาแบงก์รัฐต่าง ๆ อยู่ระหว่างเดินสายจัดมหกรรมแก้หนี้สัญจร โดยหลังจากจัดงานที่กรุงเทพฯไปแล้ว ล่าสุด เพิ่งจัดครั้งที่ 2 ที่จังหวัดขอนแก่นไปเมื่อวันที่ 18-20 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงกลางเดือน ธ.ค. จะมีจัดที่จังหวัดเชียงใหม่