สินเชื่อออนไลน์ คึกคักข้ามปี “ไทยพาณิชย์-ทีทีบี” โหมชิงตลาดเดือด

สินเชื่อออนไลน์

ตลาดสินเชื่อออนไลน์คึกคักข้ามปี “แบงก์-น็อนแบงก์-อีคอมเมิร์ซ” กระโจนลงสนามแข่ง “ไทยพาณิชย์” เตรียมส่ง “สินเชื่อ UP by SCB” ชิงตลาดปีหน้าตั้งเป้าสินเชื่อใหม่โตก้าวกระโดด 70% ขณะที่ “ทีทีบี” ขยายปล่อยกู้สินเชื่อมีหลักประกันออนไลน์ ทั้ง “บ้าน-รถ” จากเดิมเน้นสินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิต ฟาก “L H BANK” ส่งแอปใหม่ “LHB You” ลุยปล่อยสินเชื่อดิจิทัลเจาะมนุษย์เงินเดือนชิมลางปีแรก 2 พันล้าน

นายชาลี อัศวะธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแข่งขันในตลาดสินเชื่อออนไลน์ (Digital Lending) มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาต่อเนื่อง

ทั้งผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) และกลุ่มธุรกิจซื้อขายออนไลน์ (e-Commerce) รวมถึงสถาบันการเงินก็มุ่งมาทางนี้มากขึ้น คาดว่าการแข่งขันน่าจะสูงขึ้นต่อเนื่องถึงปี 2566

สำหรับปีนี้ สินเชื่อดิจิทัล ในช่วง 10 เดือนแรก มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท เติบโตเท่าตัว จากปี 2564 ที่มีพอร์ตอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 ไทยพาณิชย์

ตั้งเป้าสินเชื่อดิจิทัลเติบโต 70% หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 5 หมื่นล้านบาท ถือว่าเติบโตสูง เพราะธนาคารได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีความแม่นยำขึ้น จะช่วยให้คุณภาพลูกค้าและพอร์ตสินเชื่อดีขึ้น

โดยแผนกลยุทธ์หลักในปีหน้า ธนาคารจะขยายไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (SSME) รวมถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งจะรวมอยู่ใน “สินเชื่อ UP by SCB” มีทั้ง “เงินด่วน-เงินยืม” สำหรับบุคคลและธุรกิจ

โดยที่ผ่านมาธนาคารได้ทดสอบปล่อยสินเชื่อดังกล่าวในวงจำกัด ผ่าน sandbox ของธนาคาร และพบว่ามีผลตอบรับค่อนข้างดี โดยอัตราการอนุมัติสินเชื่อ (approve rate) ค่อนข้างดีเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50% และอนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 1,000-1,200 ล้านบาท จำนวนลูกค้า 2.5 แสนราย ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ในระดับต่ำไม่ถึง 1%

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโปรดักต์ “Buy Now Pay Later” ซื้อก่อนผ่อนทีหลังที่เตรียมจะออกมา โดยร่วมมือกับพันธมิตรศูนย์การค้า และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์

ตาราง แผนนรุกตลาดสินเชื่อ

“เรามองตลาดสินเชื่อดิจิทัลยังโตต่อเนื่อง เพราะยังมีความต้องการ ภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และยังมีลูกค้าที่เข้าไม่ถึงระบบอีกจำนวนมาก ประกอบกับตอนนี้ธุรกรรมการเงินออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้แบงก์มีข้อมูลที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นจุดแข็งของสินเชื่อดิจิทัล เพราะหากข้อมูลไม่พอ หรือจับผิดเซ็กเมนต์ลูกค้า ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียได้เช่นกัน”

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ภายในไตรมาส 1-2 ปี 2566 ธนาคารจะยกระดับ Digital Lending จากเดิมปล่อยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต ไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อย่างเช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถ ซึ่งจะมีทั้งที่ธนาคารทำเอง และร่วมกับพันธมิตร ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือร่วมกัน

สำหรับสินเชื่อดิจิทัลในกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล (บัตรกดเงินสด) และบัตรเครดิต ที่ดำเนินการอยู่แล้ว ถือว่าเติบโตค่อนข้างดี มีลูกค้าเก่าเข้ามาขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ ราว 30% ของยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งหมด คิดเป็นลูกค้าประมาณ 100,000 ราย วงเงิน 3,000 ล้านบาท

“มองไปข้างหน้าเชื่อว่าสินเชื่อดิจิทัลจะยังขยายตัวต่อเนื่อง และมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น ทั้งจากธนาคารและน็อนแบงก์ เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์ เป็นต้น

ประกอบกับสถาบันการเงินเองก็ประหยัดต้นทุนในการบริหารจัดการในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะเป็นปัจจัยการสนับสนุนให้สินเชื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ทั้งนี้ เรามีแผนยกระดับสินเชื่อมีหลักประกัน เช่น บ้าน และรถ เป็นดิจิทัลหมด โดยรูปแบบการขอสินเชื่อรถจะเปลี่ยนไป หรือแม้แต่ลูกค้าที่เดินเข้าสาขาแบบ Face to Face แต่การทำธุรกรรมจะอยู่บนดิจิทัล ทั้งการสมัครและยื่นเอกสาร ซึ่งตอนนี้เราอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ”

นายเคลวิน ฟู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มลูกค้ารายย่อย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH BANK) กล่าวว่า ภายในไตรมาสที่ 2-3 ปีหน้า ธนาคารจะเริ่มปล่อยสินเชื่อออนไลน์ “Happy Cash” ภายใต้ใบอนุญาต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ หลังจากได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “LHB You” ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นใหม่แทน “M Choice” โดยได้พัฒนาระบบยืนยันตัวตน (e-KYC) ทำให้สามารถเปิดบัญชีและขอสินเชื่อออนไลน์ได้

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ “Happy Cash” ที่ 2,000 ล้านบาทในปีหน้า โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป ขยายฐานในส่วนลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคาร แต่ยังไม่ได้ใช้ หรือมีวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล หรือวงเงินสินเชื่ออเนกประสงค์ รวมถึงการขยายฐานลูกค้าไปในกลุ่มเครือข่ายพันธมิตร เช่น ในกลุ่มบริษัท แอสเซนด์ ที่มีความร่วมมือกันก่อนหน้านี้ รวมถึงพันธมิตรรายอื่น ๆ

“สินเชื่อบุคคลมีขนาดใหญ่มาก และมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก หลังจากเราร่วมมือกับ แอสเซนด์ มาระยะหนึ่ง ตอนนี้เรามีพอร์ต 600-700 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีน่าจะได้ราว 1,000 ล้านบาท และหลังจากที่เราพัฒนาแอป LHB You จึงอยากจะขยายไปสู่การปล่อยสินเชื่อดิจิทัล และ Buy Now Pay Later เพิ่มเติม”

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ธนาคารจะเปิดให้บริการ Buy Now Pay Later โดยตอนนี้อยู่ระหว่างคุยกับพันธมิตร ในเรื่องของรายละเอียดและแพลตฟอร์มการปล่อยสินเชื่อ