ส่องมูลค่า Banking sector ทั่วโลก นัยต่อการปรับตัวของธนาคารไทย

ธนาคาร
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์, ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เราคงได้เห็นปรากฏการณ์หลายอย่างที่สร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจและต่อบรรยากาศลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสินเชื่อซับไพรมในสหรัฐ วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป กระทั่งล่าสุดการระบาดของ COVID-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสถานการณ์ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ (VUCA) และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ได้รับผลกระทบเช่นกัน

บทความนี้จะชวนผู้อ่านทุกท่านมาลอง zoom in มุมมองของตลาดที่มีต่อศักยภาพของ banking sector ทั่วโลก และนัยต่อการปรับตัวของธนาคารไทย โดยวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี หรือ price-to-book ratio (PBR) ซึ่งสะท้อนทั้งในแง่สุขภาพทางการเงินและความคาดหวังต่อความสามารถในการสร้างผลกำไรของธุรกิจ

เริ่มต้นจากช่วงก่อนวิกฤตซับไพรม ธนาคารทั่วโลกได้รับความสนใจอย่างมาก สะท้อนจากค่า PBR เฉลี่ยที่ 1.5-3 เท่า แต่พอวิกฤตซับไพรมปะทุขึ้นในปี 2550 ลุกลามและส่งผลกระทบในวงกว้างจนกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ได้สร้างความปั่นป่วนต่อตลาดการเงินทั่วโลก ซึ่งทำให้ราคาหุ้นของธนาคารทั่วโลกลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะธนาคารในสหรัฐ และสหภาพยุโรป ส่งผลให้ค่า PBR ลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่ายาวนาน

แม้ตลาดเริ่มมีมุมมองต่อธุรกิจธนาคารดีขึ้นหลังปี 2551-2555 แต่วิกฤตครั้งใหม่ในปี 2563 จากการระบาดของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อและซ้อนด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในปี 2565 ทำให้ตลาดมีความกังวลต่อศักยภาพของธุรกิจธนาคารอีกครั้งหนึ่ง เพราะภาวะเศรษฐกิจกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

ทั้งนี้ ค่า PBR ของธนาคารในสหรัฐลดลงจากระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ที่สูงกว่า 1 เท่าพอสมควร ขณะที่ค่า PBR ของธนาคารในยุโรป จีน เอเชีย-แปซิฟิก ลดต่ำลึกลงไปอีก จากที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่าแล้วก่อนหน้านั้น

ส่วนธนาคารพาณิชย์ไทย ตลาดก็มีมุมมองเชิงลบเช่นกัน โดยราคาหุ้นเฉลี่ยของธนาคารขนาดใหญ่ในปี 2563 ลดลงราว 24% และค่า PBR เฉลี่ยลดลงไปที่ 0.61 เท่า จากปลายปี 2562 อยู่ที่ 0.96 เท่า และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรป สหรัฐ และเอเชีย มีค่า PBR ลดไปที่ระดับต่ำกว่า 1 เท่าอีกครั้ง สืบเนื่องจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและอุปสงค์ที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ

แม้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นจะเป็นปัจจัยร่วมสำคัญที่กระทบมุมมองของตลาดต่อธุรกิจธนาคาร แต่ศักยภาพของธนาคารในแง่ของความสามารถในการทำกำไรและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ตลาดให้ความสำคัญด้วย

โดยพบว่าธนาคารที่มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) สูง หรือที่มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (ESG risk) ต่ำ จะมี PBR สูงกว่ากลุ่มที่ด้อยกว่า

อนึ่ง การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอยชัดเจนขึ้นในระยะข้างหน้า ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวและยังมีความเปราะบางอยู่ ปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทั้งในแง่ต้นทุนการผลิตที่ทรงตัวในระดับสูง ต้นทุนดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อสูงที่กดดันกำลังซื้อและการบริโภค อาจจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้และคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารได้

อย่างไรก็ดี Krungthai COMPASS มองว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถสร้างมุมมองตลาดใหม่ และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยจำเป็นต้องดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้บริการที่มากกว่าธนาคาร (beyond banking)

รวมถึงการขับเคลื่อนธุรกิจเชิงรุกโดยยึดหลักการ ESG เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน และยังลดผลกระทบของการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ