
สมาคมธนาคารไทย เผยอยู่ระหว่างเตรียมจัดตั้ง “ศูนย์ตรวจเช็กธุรกรรมที่มีความเสี่ยงทุจริต” ป้องกันภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ พร้อมเร่งรัด พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หวังหยุดยั้งการโอนเงินข้ามบัญชีได้เร็วขึ้น
วันที่ 11 มกราคม 2566 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการสวมรอยทำธุรกรรมการโอนเงินของลูกค้าของธนาคารผ่านการใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง โดยมิจฉาชีพได้เชื่อมเว็บไซต์ปลอมที่มีชื่อ URL ใกล้เคียงกับเว็บไซต์ธนาคารนั้น สมาคมธนาคารมีความกังวลและให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาจากภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ชง “วาระด่วน” รัฐบาลใหม่ ทุนจีนผวารถไฟไทย-จีนเปลี่ยนทิศ
- ด่วน 24 ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยึดอำนาจโหวตเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่
- เปิดประวัติ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทีมประสานต่างประเทศพรรคก้าวไกล
โดยสมาคมธนาคารไทย สมาชิกธนาคาร ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร (TB-CERT)
รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการให้ความรู้และป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพแบบบูรณาการ
ทั้งนี้ ล่าสุดสมาคมธนาคารอยู่ระหว่างการร่วมหารือกับธนาคารสมาชิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำระบบติดตามความเสี่ยงผ่านการจัดตั้ง “ศูนย์ตรวจเช็กธุรกรรมที่มีความเสี่ยงทุจริตหรือต้องสงสัย” หรือเรียกว่า “Central fraud registry” โดยดำเนินผ่าน บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (ITMX) ซึ่งจะเป็นตัวกลางในการผลักดัน เพราะหากธนาคารต่างคนต่างทำหรือแยกกันดำเนินการ จะทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรและได้ผลไม่ดีนัก
สำหรับกรอบระยะเวลาในการจัดตั้ง “Central fraud registry” ยังไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากจะต้องมีการเชื่อมโยงระบบ และเขียนโปรแกรมต่าง ๆ ในการตรวจจับธุรกรรม ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลา แต่สมาคมธนาคารไทยพยายามผลักดันให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยยังมีการเร่งรัดการออก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของทาง DES ซึ่งจะช่วยหยุดยั้งหรือระงับการโอนเงินข้ามบัญชีได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยใช้กลไกอำนาจรัฐเข้ามาช่วย
“Central fraud registry” จะมีความแตกต่างกันกับ TB-CERT โดยศูนย์ที่จะจัดตั้งใหม่จะเป็นการตรวจเช็ก ตรวจจับธุรกรรมต้องสงสัยว่าจะมีการทุจริต หรือบัญชีม้า แต่ TB-CERT จะเป็นการป้องกันภัยไซเบอร์ใหม่ ๆ ในภาคการเงิน อย่างไรก็ดี นอกจากการป้องกันจากทางธนาคารเองแล้ว
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ผู้ถือบัญชีเองก็จะต้องระมัดระวัง หรือศึกษาข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ให้ดีในการให้ข้อมูลหรือยืนยันเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เพราะหากเจ้าของบัญชีกดยินยอมไปแล้ว ทางธนาคารก็ไม่สามารถรับผิดชอบต่อเงินของท่านที่สูญเสียไป ดังนั้น เจ้าของบัญชีหากไม่มั่นใจก็ไม่ควรให้ข้อมูลไป”