ธุรกิจเจ้าสัวแห่ออกหุ้นกู้ จับตา Q1 “ไทยเบฟ-ทรู” ครบดีลหมื่นล้าน

ไทยเบฟ-ทรู

ท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้เห็นการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของบรรดาภาคธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีการขยายกิจการ หรือทำโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ

ปี 2566 คาดเสนอขายกว่า 1 ล้านล้าน

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2566 คาดการณ์ว่าน่าจะได้เห็นยอดออกหุ้นกู้ใหม่ระดับไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท เป็นปีที่ 4

โดยจากความต้องการที่สูงของภาคเอกชนในการออกหุ้นกู้ เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงิน และเตรียมการรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ปีนี้จะอยู่ท่ามกลางความผันผวนเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่บริษัทใหญ่จะได้เปรียบจากดีมานด์ของนักลงทุนที่ยังคงให้ความเชื่อมั่นอยู่ สามารถออกหุ้นกู้วงเงินก้อนใหญ่ได้ ถึงแม้ว่าต้นทุนดอกเบี้ยจะเริ่มขยับขึ้นก็ตามแต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้

“ถ้าเป็นบริษัทใหญ่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อาจจะต่ำกว่าต้นทุนหุ้นกู้ เพราะอาจได้เรต MLR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี) แต่อย่าลืมว่าดอกเบี้ยเงินกู้จะลอยตัว ถ้ามีทิศทางขาขึ้นจะล็อกต้นทุนไม่ได้ ในขณะที่ต้นทุนหุ้นกู้จะคงที่ วางแผนการเงินได้ง่ายกว่า” นางสาวอริยากล่าว

อริยา ติรณะประกิจ
อริยา ติรณะประกิจ

แห่ให้บริษัทลูกออกหุ้นกู้

โดยวัตถุประสงค์การใช้เงินของผู้ออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่เพื่อระดมทุนนำเงินไปรีไฟแนนซ์คืนหนี้เก่าและนำไปขยายกิจการ แต่เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจเพิ่งออกจากช่วงชะลอตัว จึงน่าจะเป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างต้นทุนทางการเงินให้เหมาะสมมากขึ้นมากกว่า ซึ่งจะเห็นบริษัทใหญ่พยายามให้บริษัทลูกที่มีศักยภาพใช้จังหวะออกมาระดมทุนด้วยตัวเองมากขึ้น

“ช่วงนี้ผู้ออกต้องฉวยโอกาสล็อกต้นทุนดอกเบี้ย เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ย่อตัวลงจากที่เคยขึ้นไปพีก (จุดสูงสุด) ช่วงกลางเดือน พ.ย. 2565 ตามทิศทางการเก็งว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้นเดือน ก.พ. 2566 จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง”

ผิดนัดชำระวงจำกัด

ส่วนประเด็นความกังวลการผิดนัดชำระหนี้ ถือว่ายังจำกัดวง เพราะเป็นการขาดสภาพคล่องในธุรกิจเล็กเพียงรายเดียว แต่เมื่อไรที่กระทบไปถึงธุรกิจใหญ่ก็อาจจะส่งผลถึงเซนติเมนต์โดยรวมของตลาดได้

ภาพรวมครบดีล 7 แสนล้าน

สำหรับปีนี้จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดอายุจำนวน 703,090 ล้านบาท แยกเป็นไตรมาส 1 จำนวน 183,370 ล้านบาท ไตรมาส 2 จำนวน 184,940 ล้านบาท ไตรมาส 3 จำนวน 176,695 ล้านบาท และไตรมาส 4 อีกจำนวน 158,084 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกจะมีผู้ออกรายใหม่มาระดมขายหุ้นกู้มากพอสมควรจากรายเดิมที่โรลโอเวอร์

ธุรกิจใหญ่ครบดีลเพียบ

ทั้งนี้ บริษัทใหญ่ที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดในปีนี้ ประกอบด้วย 1.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) มูลค่า 42,906 ล้านบาท 2.ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) มูลค่า 33,447 ล้านบาท 3.ซีพี ออลล์ (CPALL) มูลค่า 25,559 ล้านบาท 4.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มูลค่า 25,000 ล้านบาท 5.ไทยเบฟเวอเรจ (TBEV) มูลค่า 21,887 ล้านบาท

6.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) มูลค่า 20,100 ล้านบาท 7.ลีสซิ่งไอซีบีซีไทย (ICBCTL) มูลค่า 19,984 ล้านบาท 8.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) มูลค่า 17,427 ล้านบาท 9.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) มูลค่า 16,000 ล้านบาท และ 10.โตโยต้าลีสซิ่งประเทศไทย (TLT) มูลค่า 14,800 ล้านบาท

กิจการเจ้าสัวต่อคิวออกหุ้นกู้พรึ่บ

โดยหุ้นกู้ไทยเบฟเวอเรจมีวงเงินครบดีลสูงสุดในไตรมาสแรกจำนวน 10,000 ล้านบาท ตามมาด้วย ทรู คอร์ปอเรชั่น 9,475 ล้านบาท

ทั้งนี้ เบื้องต้นบริษัทใหญ่ที่ออกขายหุ้นกู้ใหม่ โดยยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต.ไปแล้ว คือ บริษัทในเครือ ซี.พี. เช่น ซีพีเอฟประเทศไทย (CPFTH), ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น, ทรู มันนี่, เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม (โลตัสส์)

และกลุ่ม นายเจริญ สิริวัฒนภักดี อาทิ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย), แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น นอกจากนี้ บจ.รายใหญ่ เช่น ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, แสนสิริ, โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์, ทีพีไอโพลีน เพาเวอร์, ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น, โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์, เงินติดล้อ, ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป, ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท

สถาบันอ่อนแอแห่ขายรายย่อย

นายสงวน จุงสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment and Market Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในปี 2566 ผู้ออกหุ้นกู้จะพุ่งเป้าการขายให้กับนักลงทุนรายย่อยกลุ่ม Private Banking หรือผู้ลงทุนบุคคลรายใหญ่ (high net worth) เป็นหลัก เพราะว่านักลงทุนกลุ่มสถาบันตั้งแต่ก่อนโควิดอ่อนแอลง ทำให้มีแรงซื้อจำกัด

โดยบริษัทประกันชีวิตมียอดขายประกันหดตัว และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีเงินสดไปลงทุนหุ้นกู้น้อย เพราะจากตลาดกองทุนรวมตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนติดลบ ทำให้ผู้ถือหน่วยถอนเงินออกมาลงทุนเอง

“ตอนนี้ดีมานด์ซัพพลายหุ้นกู้ยังไม่ค่อยสมดุล คือกำลังซื้อทรงตัว แต่มีหุ้นกู้ออกใหม่เยอะ เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ว่าต้นทุนการเงินยังสูงขึ้นได้ แต่ไม่สูงมาก เพราะถ้าสูงขึ้นมากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จำนวนหนึ่งก็จะวิ่งไปหาทางเลือกอื่นเพื่อชดเชย เช่น กู้ยืมเงินจากแบงก์ เพื่อรักษาสมดุลต้นทุนทางการเงิน ซึ่งภาพจะคล้าย ๆ กับปีที่แล้ว”

ทั้งนี้ ผลตอบแทนเฉลี่ยหุ้นกู้ AAA อายุ 1 ปี 1.79% อายุ 3 ปี 2.26% อายุ 5 ปี 2.62% ส่วนถ้าเป็นหุ้นกู้ BBB+ ซึ่งเป็นกลุ่มที่นักลงทุนรายย่อยซื้อกันมาก รุ่นอายุ 1 ปี ผลตอบแทน 3.13% อายุ 3 ปี 3.78% อายุ 5 ปี 4.24% (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ม.ค. 2566)

คาดเป็นปีที่ดีของตราสารหนี้

“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดี และปีนี้จะเป็นปีกลับเข้าสู่เศรษฐกิจก่อนโควิด ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในภูมิภาคอาเซียน ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 10 ม.ค. 2566 แข็งค่าขึ้นมากว่า 3% ส่งผลให้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาซื้อหุ้นและบอนด์ ขณะที่สัญญาณหนี้สาธารณะมีโอกาสกลับมาต่ำกว่า 60% หากจีดีพีขยายตัวตามคาด สะท้อนเสถียรภาพการคลังไม่ได้แย่ไปกว่าเดิม และหากมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ดี

โดยรวมความเสี่ยงหุ้นกู้น่าจะลดลง จึงน่าจะเป็นปีที่ดีสำหรับตราสารหนี้ ที่ดอกเบี้ยได้ปรับขึ้นไปพอสมควรแล้ว และหากเงินเฟ้อลดลงตามคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย การขึ้นดอกเบี้ยอาจจะไปจบที่ 1.75-2% และแช่ไปยาว ๆ อีก 2-3 ปี”


ปีกระต่ายจะเป็นปีที่ดีของหุ้นกู้จริงหรือไม่ คงต้องติดตาม