เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือน จับตาประชุมกนง. 25 ม.ค.นี้

กนง. ดอกเบี้ย

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือน ขณะที่ตลาดรอติดตามผลการประชุมกนง. 25 ม.ค.นี้  ส่วนเงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุน หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอ ย้ำมุมมองเฟดชะลอขนาดการขึ้นดอกเบี้ยรอบแรกของปีนี้ SET Index ร่วงลงแรงช่วงปลายสัปดาห์ ตามแรงฉุดจากหุ้นกลุ่มแบงก์ หลังผลประกอบการล่าสุดออกมาต่ำกว่าตลาดคาดการณ์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือนครั้งใหม่ที่ 32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกท่ามกลางกระแสการคาดการณ์ว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะชะลอขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ (หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอ)

อย่างไรก็ดีเงินบาทเผชิญแรงขายเป็นระยะในระหว่างสัปดาห์จากสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับสกุลเงินเอเชียบางส่วนอ่อนค่าลงตามเงินหยวน ซึ่งมีปัจจัยลบจากข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ออกมาอ่อนแอ สะท้อนผลกระทบจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาแข็งค่าและทดสอบแนว 32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางทิศทางแข็งค่าของสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตลาดกลับมารอติดตามสัญญาณดอกเบี้ยของไทยจากผลการประชุมกนง. ในวันที่ 25 ม.ค. อย่างใกล้ชิด

กราฟเงินบาท

ในวันศุกร์ที่ 20 ม.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 32.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 16-20 ม.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,529 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 29,264 ล้านบาท (ขายสุทธิ 26,714 ล้านบาท รวมกับตราสารหนี้ที่หมดอายุ 2,550 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ม.ค. 2566) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนธ.ค. จีดีพีไตรมาส 4/65 (ครั้งที่ 1) ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนม.ค. ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆเข้ามาสนับสนุนหลังตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมปลายเดือนนี้

อย่างไรก็ดี SET Index ดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆระหว่างสัปดาห์ตามแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นรายตัว โดยเฉพาะหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับมีแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเข้ามาช่วยหนุนภาพรวมตลาด กระนั้นก็ดีหุ้นไทยร่วงลงแรงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามแรงฉุดหลักจากหุ้นกลุ่มแบงก์ หลังผลประกอบการงวดล่าสุดของแบงก์ใหญ่บางแห่งออกมาต่ำกว่าตลาดคาด

กราฟตลาดหุ้นไทย

ในวันศุกร์ (20 ม.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,677.25 จุด ลดลง 0.27% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 60,891.46 ล้านบาท ลดลง 22.46% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.86% มาปิดที่ระดับ 594.73 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ม.ค. 2566) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,670 และ 1,650 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,710 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (25 ม.ค.) ตัวเลขส่งออกเดือนธ.ค. ของไทย ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/65 ของบจ. ไทย รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนธ.ค. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนม.ค. (เบื้องต้น) รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนม.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ