จับตาประชุม กนง.กลางสัปดาห์ ตลาดซื้อขายเบาบาง ช่วงวันหยุดตรุษจีน

ธปท. แบงก์ชาติ

จับตาการประชุม กนง.กลางสัปดาห์ ตลาดซื้อขายเบาบางในช่วงวันหยุดตรุษจีน ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group ให้น้ำหนัก 97% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2566 ว่าค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 32.58/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/1) ที่ระดับ 32.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าต่อเนื่อง โดยถูกกดดันจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยนายแพตทริก ฮาเคอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเปิดเผยในวันศุกร์ (20/1) ว่าเขาคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% นั้นเหมาะสม หลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกในปีที่ผ่านมา

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. ซึ่งเป็นการประชุมนโยบายการเงินนัดแรกของเฟดในปีนี้ หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐต่างบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนัก 76.7% ขณะที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ที่ระดับ 32.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในเช้าวันจันทร์ (23/1)

นอกจากนี้ นักลงทุนรอจับตาดูการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจาก PCE/Core PCE Price Indices ประจำเดือนธันวาคม, ตัวเลข GDP ไตรมาส 4/2565 (ครั้งที่ 1) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันพุธนี้ (25/1) โดยคาดว่าจะทราบผลอย่างเป็นทางการในช่วงบ่าย ซึ่ง Bloomberg ประเมินไว้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จากระดับ 1.25% สู่ระดับ 1.50%

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย รวมถึงการเข้าถือพันธบัตรไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าดอลลาร์จะเริ่มอ่อนค่าลง และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.58-32.84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 1.0893/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/1) ที่ระดับ 1.0830/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ตลาดรอจับตาดูรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน (Consumer Confidence) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนมุมมองความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในยุโรปที่จะประกาศในวันนี้ (23/1) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0886-1.0903 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0897/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 129.18/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อศุกร์ (20/1) ที่ระดับ 129.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ขานรับถ้อยแถลงของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งระบุว่า BOJ จะยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษต่อไป อย่างไรก็ดีตลาดรอจับตาดูตัวเลขดัชนีภาคบริการและดัชนีภาคการผลิตประจำเดือนมกราคมของญี่ปุ่น (24/1)

นอกจากนี้นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (22/1) ว่า เขาจะเสนอชื่อผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่ในเดือนหน้า ขณะที่ตลาดกำลังรอดูว่า BOJ จะเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ คนปัจจุบันหรือไม่ ประกอบกับนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น BOJ อาจไม่คุมเข้มนโยบายการเงินเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 129.18-130.03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 129.9/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน เดือนมกราคม (23/1), ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคของอังกฤษ เดือนมกราคม (24/1), นอกจากนี้ทางด้านสหรัฐตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI (เบื้องต้น) ของสหรัฐเดือนมกราคม (24/1) อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนธันวาคม (26/1), จีดีพีไตรมา 4/2565 (26/1), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (26/1) และยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนธันวาคม (26/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.60/-10.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.30/-7.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ