กนง. ยันแบงก์ขึ้นดอกเบี้ยตามไม่กระทบลูกหนี้ หลังท่องเที่ยวหนุนรายได้เพิ่มขึ้น

นายปิติ ดิษยทัต

กนง.ยันการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องยังเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ชี้ Terminal Rate เป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อไป พร้อมเกาะติดเงินเฟ้อพื้นฐาน-การส่งผ่านต้นทุน-เศรษฐกิจโลกและจีน ระบุ แบงก์ส่งผ่านดอกเบี้ยตามกลุ่มลูกค้า หลังขึ้นดอกเบี้ย MLR สูงกว่า MRR ดูแลกลุ่มเปราะบาง รายได้ท่องเที่ยวหนุน ย้ำยังไม่พิจารณาต่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

วันที่ 25 มกราคม 2566 นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% มาอยู่ที่ 1.50% ต่อปี โดยภาพรวมเศรษฐกิจเมื่อเทียบการประชุมคราวที่แล้วมีข้อมูลใหม่ที่เข้ามาและมีนัยยะสำคัญ 2 ประเด็น

คือ 1.เศรษฐกิจจีน ที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านโควิด-19 และอสังริมทรัพย์ และ 2.เศรษฐกิจต่างประเทศมีสัญญาณไม่ได้แย่อย่างที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นปัจจัย 2 ตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาก่อนช่วงโควิด-19

โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับจาก 11 ล้านคน เป็น 25.5 ล้านคน และในปี 2566 เป็น 34 ล้านคน โดยตัวแปรหลักมาจากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะหนุนภาคการบริโภคที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและเข้มแข็ง รายได้ลูกจ้างและตลาดแรงงานปรับดีขึ้น โดยจะมีแรงงานผู้ที่ได้รับประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 60% จะหนุนการบริโภคปีนี้ให้เติบโตต่อไปได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อในด้านอุปทาน ทั้งจากราคาน้ำมันและอาหารสดลดลงตามคาดการณ์ ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปโน้มลดลงตามประมาณการ และจะเข้ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ในปลายปีนี้ แต่ยังคงต้อติดตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจากแรงกดดันทางด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่มีการค้างคาอยู่ ซึ่งในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นอาจจะมีการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการที่ค้างคาไว้ ทำให้ในปีนี้และปี 2567 อัตราเงินเฟ้อจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น

“สิ่งที่คณะกรรมการฯ จับตา คือ แนวโน้มเงินเฟ้อ แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงต้องติดตามไส้ในที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีนจะมีพัฒนาการแบบไหน การส่งผ่านต้นทุน ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการฯ มองว่า

การทยอยขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในระยะข้างหน้า และหากดูแนวโน้ม Terminal Rate หรือจุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบาย เป็นโจทย์ที่จะต้องติดตามและพิจารณาในคราวถัดไป แต่ตอนนี้การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังคง Take off และฟื้นตัวยั่งยืน สอดคล้องกับการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง”

นายปิติ ดิษยทัต กล่าวต่อไปว่า สำหรับการส่งผ่านนโยบายการเงินต่อสถาบันการเงินนั้น มองว่า ภายหลังจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายการเงิน จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์พยายามแยกกลุ่มเป้าหมายในการส่งผ่านต้นทุนอัตราดอกเบี้ย โดยที่ผ่านมาธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ปรับเพิ่มขึ้นพอสมควร ขณะที่ลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่ใช้อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จะปรับน้อยกว่าในอดีตที่ผ่านมา

และหากมองไปข้างหน้าธนาคารพาณิชย์ได้มีการประเมินว่าความต้องการสินเชื่อมีอยู่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนภาพเศรษฐกิจฟื้นตัว ทั้งสินเชื่อรายใหญ่ และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขณะเดียวกันธนาคารก็มีการเฝ้าระวังการปล่อยสินเชื่อ

รวมถึงมีมาตรการดูแลกลุ่มเปราะบางที่อ่อนไหวทางด้านการเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยังมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งมองว่ายังเพียงพอกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาต่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่จะครบกำหนดกลางปีนี้


“หลังกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เชื่อว่าตลาดและธนาคารพาณิชย์มีการคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว โดยการส่งผ่านจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ก่อให้เกิดหนี้เสีย หรือกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งกนง.ได้มีการชั่งน้ำหนักในการพิจารณาการปรับดอกเบี้ย โดยภาคครัวเรือนยังสามารถรับภาระได้อยู่”