EXIM BANK อวดกำไรพุ่ง 2 ปีติด แย้มจ่ายโบนัสพนักงาน 6 เดือน

exim bank

EXIM BANK กางแผนธุรกิจปี’66 ตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อ 10% ยอดคงค้างแตะ 1.8 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 1.8 พันล้านบาท เน้นผนึกธนาคาร SFIs ปล่อยกู้ร่วม พร้อมเจาะกลุ่มเอสเอ็มอี-คนตัวเล็กเชิงรุก ปลื้มผลงานปี’65 โกยกำไร 1.5 พันล้านบาทต่อเนื่อง 2 ปี แย้มจ่ายโบนัสพนักงานเฉลี่ย 6 เดือน

วันที่ 30 มกราคม 2566 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 มองว่ายังคงเป็นปีที่มีความท้าทายภายใต้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2% โดยธนาคารจะมุ่งเน้นการให้สินเชื่อโดยเลือกเกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

เช่น สินเชื่อพลังงานสะอาด แพ็กเกจกิ้ง และ Future Food เป็นต้น ภายใต้การเน้นตลาดใหม่ที่ลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐ และยุโรปที่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) สูงถึง 80% โดยจะหันไปเจาะตลาดกลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่ม เอเชียใต้มากขึ้น

โดยธนาคารตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อประมาณ 10% และคาดว่าจะมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท จากปี 2565 อยู่ที่ 1.68 แสนล้านบาท ซึ่งภายใต้อัตราการเติบโตของยอดคงค้างดังกล่าว ธนาคารคาดว่าจะสามารถมีกำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 1,800 ล้านบาท จากปี 2565 กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท ถือเป็นการทำไรสุทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ปี แม้ว่าธนาคารยังไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามระบบก็ตาม และจากผลงานดังกล่าวจึงมีโบนัสให้พนักงานเฉลี่ย 6 เดือน

ทั้งนี้ ในปี 2566 ธนาคารยังคงระมัดระวังโดยอัตราการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญให้อยู่ในระดับสูงไม่ต่ำกว่า 250% สอดคล้องกับในปีก่อนที่มีสัดส่วนการตั้งสำรองฯ สูงถึง 270% หรือคิดเป็นจำนวน 1.28 หมื่นล้าน บาท หลังจากมีผลกำไรจากการดำเนินงานกว่า 2,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.51% จากปีก่อนอยู่ที่ 2,390 ล้านบาท ถือว่าสูงสุดใน SFIs และตั้งเป้าคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่เกิน 3% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.9% ถือว่าต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่

ทั้งภายใต้ฐานลูกค้านำเข้าและส่งออกที่มีอยู่ราว 3 หมื่นราย มีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ราว 20% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 50% โดยธนาคารจะไม่ไปแย่งลูกค้า SFIs แต่จะมีการร่วมมือกับ SFIs เจ้าใหญ่ในการปล่อยกู้ร่วม (Syndication loan) เช่น ลูกค้าต้องการวงเงิน 50 ล้านบาท โดยในส่วนของ 20 ล้านบาทแรกธนาคาร SME D Bank รับไป ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท Exim Bank จะเข้าไปรับเอง จะเป็น Game Changer โดยที่ธนาคารไม่ต้องขยายสาขาจากที่มีอยู่ 9 แห่ง แต่สามารถปล่อยกู้ผ่าน SFIs กว่า 241 แห่งได้

ทั้งนี้ ในแต่ละปีธนาคารจะปล่อยวงเงินกู้ร่วมราว 3,000-5,000 ล้านบาท แต่ในปีนี้เราจะเอาโมเดลในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มของเจ้าสัวมาเน้นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น คาดวงเงินเบื้องต้นราว 1,000 ล้านบาท แต่เพดานคงไม่เกิน 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารมีแผนจะออกพันธบัตรสีเขียว (กรีนบอนด์) สำหรับคนตัวเล็กและเอสเอ็มอี วงเงินเบื้องต้นอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท โดยในรายละเอียดจะพิจารณาอีกครั้งภายในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากมีการเพิ่มทุนเข้ามาประมาณ 2,000 ล้านบาท

“ยอดสินเชื่อคงค้างของ Exim Bank วันนี้เกือบ 1.7 แสนล้านบาท และมีการอนุมัติสินเชื่อใหม่แต่ละปีเกือบ 1 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับ SFIs ขนาดใหญ่ และวันนี้ทุกสายการบินกลับมาชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันเรามีลูกค้าที่แอคทีฟประมาณ 3,000 ราย แต่หากดูวงเงินคงค้างถือว่าเป็นรายใหญ่ แต่หลังจากนี้ เราจะพยายามมุ่งไปสู่คนตัวเล็กมากขึ้น โดยพยายามเชื่อมกับแบงก์ SFIs ในการปล่อยสินเชื่อโดยใช้ Credit Scoring เดียวกัน”