EXIM BANK แนะเร่งสต๊อกสินค้ารับมือบาทแข็ง ทยอยปรับดอกเบี้ยตามระบบ

EXIM BANK

EXIM BANK แนะผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้าฉวยโอกาสค่าเงินบาทแข็งเร่งสต๊อกสินค้า-ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามขนาดธุรกิจ ลั่นเดือน ก.พ.ทยอยเตรียมขึ้นดอกเบี้ยตามตลาด 0.25% ต่อปี และกลางปีอีก 1 ครั้ง หลังอั้นมา 7 เดือนระบบขึ้นนำไปแล้ว 0.81%

วันที่ 30 มกราคม 2566 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า สำหรับทิศทางค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น มองว่าเป็นผลมาจากการปรับนโยบายการเงินในการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัว และค่าเงินบาทที่แข็งแกร่ง ทำให้เห็นกระแสเงินทุนเคลื่อนบ้าน (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าตลาดไทยค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าดังกล่าว ธนาคารแนะนำให้ผู้ประกอบการและลูกค้าเร่งสต๊อกสินค้าในช่วงนี้ เพราะการนำเข้าในช่วงบาทแข็งจะได้ต้นทุนราคาที่ถูกกว่า โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ หรือวัสดุดิบเพื่อผลิตและส่งออก ซึ่งไตรมาสที่ 1/2566 จะเห็นค่าเงินไม่ได้แกว่างมากนักเฉลี่ย 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์ หากทำธุรกิจและยังสามารถมีส่วนต่างกำไร (มาร์จิ้น) ได้ ธนาคารแนะนำการซื้อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นครั้งได้ แต่กรณีปริมาณการซื้อและขายวอลุ่มสูงก็ควรซื้อป้องกันเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง

“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นเพราะเราต้องสู่กับเงินเฟ้อโดยการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมา 0.81% ต่อปี ก็เหมือนเคาะเรียกแมว คนก็อยากจะเข้ามา เพราะเงินฝากดอกเบี้ยกระโดดไป 1 บาทกว่า ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศ บาทก็แข็ง ช่วงเวลานี้เราควรใช้ในการสต๊อกสินค้า ส่วนจะป้องกันความเสี่ยงเรามีเครื่องมืออยู่แล้ว ทั้ง Forward Option หรือการ Hedging จะซื้อเป็นเกาะบาง ๆ หรือเกาะตัวหนาทำได้หมด”

ดร.รักษ์ กล่าวอีกว่า ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ธนาคารจะประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ต่อปี หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (RP) อีก 0.25% ต่อปี จาก 1.250% มาอยู่ที่ 1.50% ต่อปี ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 โดยจะเห็นว่าธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ย หลังจากตลาดปรับขึ้นไปแล้วรวม 0.81% ต่อปี ซึ่งเป็นเวลา 7 เดือนเต็มที่ไม่ได้ปรับดอกเบี้ย

ดังนั้น หลังจากนี้ธนาคารจะเริ่มทยอยขึ้นครั้งละ 0.25% ต่อปี โดยจะขึ้นครั้งแรกในวันที่ 1 ก.พ.นี้ และจะพิจารณาปรับดอกเบี้ยอีกครั้งภายในกลางปี 2566 จะทยอยขยับครั้งละ 0.25% ต่อปี ซึ่งจะเหลือส่วนต่างดอกเบี้ยอีก 0.56% ต่อปี ที่ธนาคารจะต้องปรับตามให้เท่ากับตลาด แต่จะให้มีผลกระทบกับลูกค้าน้อยที่สุด อย่างไรก็ดี แม้ว่าธนาคารจะไม่ได้มีการปรับดอกเบี้ยตามตลาดหลังตลาดขึ้นไปแล้ว 0.81% แต่จะเห็นว่าธนาคารสามารถมีกำไรสุทธิในปี 2565 สูงถึงราว 1,500 ล้านบาท