บริหารหนี้คึกคักรับ NPL เพิ่ม SAM-BAM ทุ่มงบแข่งปิดดีล

เงินบาท

ธุรกิจบริหารหนี้ จับเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น หนุนเอ็นพีแอลพุ่ง-แบงก์แห่ตัดขายรวม 8 หมื่นล้าน “BAM” ตั้งเป้าซื้อหนี้ 9 พันล้าน “SAM” เผยแบงก์ชวนประมูลหนี้พุ่ง 20% ตั้งงบฯซื้อ 7 พันล้าน ขณะที่ “CHAYO” คาดประมูลขายหนี้คึกคักตั้งแต่ไตรมาสแรก-ควัก 2 พันล้านลุย “JMT” เตรียม 1 หมื่นล้าน ยันเข้าทุกดีล-ไม่กดราคา

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2566 นี้ ประเมินว่าแบงก์จะมีการตัดขายทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นเป็น 8 หมื่นล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่มีการขายหนี้ประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นตัวเร่งการขาย เพื่อที่แบงก์จะได้นำเงินไปปล่อยสินเชื่อต่อ

ประกอบกับมาตรการจัดชั้นหนี้และกันเงินสำรองตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหมดอายุลงในปีนี้ หาก ธปท.ไม่ต่ออายุมาตรการ แบงก์ก็ต้องเร่งระบายทรัพย์เอ็นพีแอลออกมาเร็วขึ้น

อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ต้นทุนการเงิน (cost of fund) ปรับสูงขึ้น จะมีผลต่อผู้ซื้อค่อนข้างมาก ดังนั้น อาจจะเห็นธนาคารปรับราคาหรือให้ส่วนลด (discount) น้อยลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับประเภทพอร์ตและทรัพย์ ซึ่งอาจจะมีทั้งปรับราคาขึ้นและปรับลง โดยจะแตกต่างจากปีก่อนที่แบงก์มีการดึงทรัพย์กลับ ในกรณีที่ราคาประมูลออกมาไม่เป็นที่พอใจ ซึ่งสัดส่วนการดึงกลับมีถึงกว่า 40% ของหนี้เอ็นพีแอลที่นำออกมาขายในตลาด

“ปีนี้บริษัทตั้งเป้ารับซื้อหนี้ไว้ 9,000 ล้านบาท แต่คิดว่าน่าจะซื้อได้มากกว่านี้ เพราะเอ็นพีแอลน่าจะไหลออกมาขายเยอะขึ้นจากปีก่อน ปีนี้ทรัพย์ที่เห็นมากยังคงเป็นเอสเอ็มอีและบ้าน ส่วนโรงแรมน่าจะดีขึ้นจากการเปิดประเทศ” นายบัณฑิตกล่าว

จม.เชิญร่วมประมูลหนี้พุ่ง 20%

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) กล่าวว่า ประเมินการตัดขายทรัพย์เอ็นพีแอลของธนาคารในปีนี้จะเพิ่มขึ้น สะท้อนจากจดหมายเชิญชวนการประมูลทรัพย์พบว่า มีเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีจดหมายเชิญชวนประมูลทรัพย์ราว 6-7 หมื่นล้านบาท

โดยบริษัทเริ่มเห็นสัญญาณการตัดขายหนี้ผ่านดีลการประมูลทยอยออกมาตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 1/2566 จากปกติที่จะเห็นดีลการประมูลค่อนข้างมากในช่วงไตรมาส 4 จึงเชื่อว่าปีนี้การขายทรัพย์เอ็นพีแอลของแบงก์ และการแข่งขันกันซื้อหนี้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์จะคึกคักมากขึ้น และขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณดีลเริ่มไหลเข้ามาตั้งแต่ต้นปีแล้ว เช่น ไทยพาณิชย์ ยูโอบี เป็นต้น คาดว่าไตรมาสแรกน่าจะมีสัก 3-4 ดีล ซึ่งบริษัทก็พยายามจะเข้าไปร่วมทุกดีล

“เป้าหมายการรับซื้อหนี้มาบริหารของ SAM ในปีนี้ตั้งเป้าวงเงินไว้ที่ 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีมูลหนี้เข้ามาบริหารจัดการราว 1 หมื่นล้านบาท ทรัพย์ที่ยังเห็นการตัดขาย ส่วนใหญ่เป็นหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอี, ที่อยู่อาศัย ส่วนโรงแรมอาจจะเห็นน้อยลง เพราะสถานการณ์ท่องเที่ยวดีขึ้น” นายธรัฐพรกล่าว

แบงก์เร่งขายหนี้ตั้งแต่ไตรมาส 1

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO กล่าวว่า ปีนี้จะเห็นการตัดขายหนี้มากกว่าปี 2564-2565 ตามสัญญาณหนี้เอ็นพีแอลใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กว่า 3% จาก 2.9% โดยคิดเป็นมูลค่าหนี้เสียคงค้างอยู่ที่ 5-6 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี คาดว่าปีนี้จะเห็นการตัดขายออกมาราว 3 แสนล้านบาท โดยเริ่มเห็นสัญญาณการตัดขายหนี้ ตั้งแต่ไตรมาส 1/2566 ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการทยอยหมด ลูกหนี้เริ่มจ่ายไม่ไหว กลายเป็นหนี้เสียมากขึ้น ซึ่งประเมินว่าในช่วงไตรมาสแรกจะมีการตัดขายหนี้ออกมาราว 3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 2-3 ดีล

ส่วนไตรมาส 2-3 น่าจะไหลออกมารวมกันอีก 1.5 แสนล้านบาท และไตรมาสสุดท้ายอีกราว 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งหนี้ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน ทั้งเอสเอ็มอี คอร์ปอเรตโลน เช่าซื้อ พีโลน และบัตรเครดิต

ปีนี้บริษัทตั้งงบฯในการรับซื้อหนี้ประมาณ 2,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าหนี้ราว 1-1.5 หมื่นล้านบาท ล่าสุด CHAYO ประมูลชนะดีลแรกเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน มูลหนี้หลักพันล้านบาท คาดว่าภายในปี 2566 พอร์ตลูกหนี้จะเพิ่มเป็น 9.5 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท เป็นพอร์ตมีหลักประกัน 20-25% และไม่มีหลักประกัน 75-80% และตั้งเป้ารายได้เติบโต 25% จากสิ้นปี 2565 ที่มีพอร์ตลูกหนี้รวม 8.5 หมื่นล้านบาท

หนี้มีปัญหา 4 แสนล้านจ่อทะลัก

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า การตัดขายหนี้เอ็นพีแอล น่าจะเห็นเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ จะหมดลงสิ้นปี 2566 หาก ธปท.ไม่ได้ต่ออายุ ทำให้ลูกหนี้ที่ไปต่อไม่ไหวจะเริ่มออกสัญญาณภายใน 6-9 เดือน หรือประมาณ 180 วัน จึงจะเป็นจุดที่ธนาคารจะตัดหนี้สูญ (write-off) ซึ่งจะเริ่มเห็นธนาคารทยอยตัดทรัพย์หนี้ออกมาขายมากขึ้น โดยต้องจับตาตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่มีประมาณ 3 แสนล้านบาท และเอ็นพีแอล
อีกราว 1 แสนล้านบาทของระบบแบงก์

“หากนำตัวเลข SM กับเอ็นพีแอลรวมกันอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท เป็นก้อนที่จะไหลออกมาขาย แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารจะมีวิธีตัดหนี้สูญอย่างไร ทั้งนี้ บริษัทตั้งงบฯในการรับซื้อหนี้มาบริหารอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทจะเน้นเข้าร่วมประมูลในทุกดีลที่มีการเชิญชวน และให้ราคาที่เหมาะสม ไม่กดราคาให้ตามประเภทและคุณภาพทรัพย์

โดย ณ ไตรมาส 3/2565 มีพอร์ตคงค้างราว 2.5 แสนล้านบาท สัดส่วนเป็นไม่มีหลักประกันถึง 90% และหลักประกัน 10% แต่หากรวมบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) ที่ร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทย จะเป็น 3 แสนล้านบาท เรามีเป้า 3 ปี JK จะรับหนี้จากธนาคารกสิกรไทยราว 1 แสนล้านบาท ปีแรกคาดว่าจะรับมา 5 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันตัวเลขไม่เป็นทางการเกินเป้าเป็น 7 หมื่นล้านบาทแล้ว”

นางสาวดวงดาว วงค์พนิตกฤต ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ปีนี้กรุงศรีฯจะควบคุมเอ็นพีแอลไม่ให้เกินระดับ 2.5-2.6% แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ 2.3% แต่ยังคงต่ำกว่าอุตสาหกรรมโดยรวม หนี้เสียที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่จะทยอยหมดอายุลง

อย่างไรก็ดี ในการบริหารจัดการหนี้เสียของธนาคาร ถือว่ายังคงมีประสิทธิภาพ จึงยังไม่จำเป็นต้องมีตั้งบริษัทร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อบริหารหนี้เสียแต่อย่างใด เนื่องจากตัวเลขเอ็นพีแอลยังคงอยู่ในระดับต่ำ และธนาคารยังมีความสามารถในการบริหารจัดการได้ โดยแต่ละปีธนาคารจะมีการตัดขายหนี้เสีย 2 ครั้ง คือ ช่วงกลางปีในเดือน มิ.ย. และช่วงเดือน ธ.ค. โดยในปี 2565 ธนาคารมีการตัดขายหนี้อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่มีการตัดขายหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ราว 1,000-3,000 ล้านบาท

แนวโน้มแบงก์ตัดขายหนี้ต่อเนื่อง

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในเรื่องนี้ว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ ยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์จะอยู่ในกรอบ 2.55-2.80% หรือราว 4.9-5.38 แสนล้านบาท ซึ่งมองว่าธนาคารยังคงบริหารจัดการหนี้เชิงรุก ทั้งการปรับปรุงโครงสร้าง และการตัดขายหนี้อย่างต่อเนื่องในปีนี้ สะท้อนจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2565

โดยจากตัวเลขระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 29 แห่ง พบว่า ในปี 2565 ธนาคารพาณิชย์มีการปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ย 2.6 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่เฉลี่ย 2.28 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส ขณะที่การตัดขายหนี้ (write off) ในปี 2565 เฉลี่ย 2.29 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีการตัดขายเฉลี่ยราว 2 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส และเชื่อว่าปีนี้ธนาคารยังคงทยอยทำเพิ่มขึ้น ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้และการตัดขายหนี้ เพื่อบริหารจัดการหนี้เสีย


“หากดูตัวเลขเอ็นพีแอลระบบแบงก์ในปีก่อนของ ธปท.อยู่ที่ 2.75% เป็นระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด เพราะแบงก์เองก็เร่งจัดการหนี้เสียเชิงรุก ซึ่งปีนี้ปัญหาหนี้ก็ยังไม่จบ เราก็จะยังเห็นแบงก์ทยอยปรับโครงสร้างหนี้ และตัดขายหนี้ออกมาในจำนวนมูลค่าที่สูงขึ้น แต่จะสูงระดับใดนั้น อาจจะขึ้นอยู่กับวัฏจักรเศรษฐกิจด้วย”