ทำไมต้องกังวล เศรษฐกิจถดถอย ?

เศรษฐกิจถดถอย
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : ภาณี กิตติภัทรกุล, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย

นักวิเคราะห์หลายท่านได้ออกมาเตือนว่าปี 2023 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากในหลายประเทศ ถึงขั้นอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ และแสดงถึงความกังวลมากขึ้นเมื่อผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะชะลอการใช้จ่ายที่ทำให้เงินเฟ้อปรับลดลงรุนแรงได้ คำถามที่สำคัญคือ ทำไมตลาดถึงต้องกังวลมากกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ?

เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย สิ่งที่น่ากังวลคือโอกาสที่จะเกิดภาวะ “เงินฝืด” หรือ “deflation”

ภาวะเงินฝืดหรือ deflation คือการที่ระดับสินค้าและบริการต่าง ๆ ปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้มูลค่าของเงินปรับเพิ่มขึ้น ภาวะเงินฝืดเป็นภาวะที่ตรงข้ามกับภาวะเงินเฟ้อสูงที่ทั่วโลกเผชิญเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเราเห็นแล้วเงินเฟ้อที่สูงไป ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ภาวะเงินฝืดก็ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

เมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ผู้บริโภคจะใช้จ่ายน้อยลง ความต้องการสินค้าจะลดลงตาม และทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาเพื่อจูงใจผู้บริโภค ซึ่งเมื่อผู้บริโภคคาดราคาสินค้าจะลดลงเรื่อย ๆ ผู้บริโภคจะยิ่งชะลอการซื้อสินค้า เพื่อรอราคาที่ถูกกว่า ทำให้เกิดวงจรขาลงของราคา (deflationary spiral) สุดท้ายแล้วผู้ผลิตอาจจำเป็นต้องลดการผลิตหรือเลิกกิจการ ยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้แย่ลงอีก

นอกจากนี้ ภาวะเงินฝืดทำให้ภาระหนี้ของลูกหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินฝืดทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลง จากการที่ราคาสินค้าลดลง ธุรกิจรายรับน้อยลง จำเป็นต้องปรับลดค่าใช้จ่าย

รวมถึงลดค่าจ้างของลูกจ้างด้วย โดยรวมรายได้ประเทศจะลดลง แต่หนี้จะยังมีเท่าเดิม เพราะมูลค่าหนี้ไม่ได้ปรับตามเงินเฟ้อ ซึ่งภาวะเงินฝืดจะทำให้การชำระหนี้ยากขึ้น และอาจเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดวิกฤตของภาคการเงิน

เพราะฉะนั้น นักเศรษฐศาสตร์ถึงได้แสดงความกังวลต่อเศรษฐกิจปีนี้ และการขึ้นดอกเบี้ยที่รวดเร็วและรุนแรงของธนาคารกลางทั่วโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องการเศรษฐกิจเกิดการถดถอยที่ลึกเกินไป ที่จะทำให้ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้น

ซึ่งหากเกิดขึ้น การจะหลุดจากภาวะเงินฝืดนั้นยากกว่าการหลุดจากภาวะเงินเฟ้อสูงอีกต่างหาก ดูตัวอย่างได้จากประเทศญี่ปุ่น