จับตาทิศทาง “ราคาน้ำมัน” หลังยุโรปแซงก์ชั่นรัสเซีย

ราคาน้ำมัน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ชาติและสหราชอาณาจักร ประกาศมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซีย เพื่อลงโทษต่อการบุกยูเครนระลอกล่าสุดออกมาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2023 ด้วยการห้ามนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากรัสเซีย

พร้อมกันนั้นก็กำหนดเพดานราคาน้ำมันดีเซล, น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน, และน้ำมันเบนซิน ไว้ที่ไม่เกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

มาตรการลงโทษที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กันครั้งนี้ ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในกรณีของน้ำมันดีเซล ว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันชนิดเดียวกันนี้แพงขึ้นทั่วโลกหรือไม่ เพราะจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าในประเทศต่าง ๆ แพงขึ้น และทำให้ภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มจะสร่างซาลงกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงตลาดน้ำมันโลกเชื่อว่า ในระยะแรกอาจส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปพุ่งขึ้นอยู่บ้าง แต่หลังจากตลาดปรับตัวได้แล้ว ราคาก็จะน่าจะลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแต่อย่างใด

ด้วยเหตุผลที่ว่า “มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมัน” ที่ว่านี้ ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้การแซงก์ชั่นต่อน้ำมันรัสเซีย ซึ่งจะทำให้น้ำมันปริมาณมหาศาลหายไปจากตลาด ส่งผลให้ราคาน้ำมันทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นจนชาติตะวันตกและนานาประเทศเดือดร้อนไปตาม ๆ กันนั่นเอง

และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มาตรการนี้ถูกประกาศใช้ แต่พันธมิตรตะวันตกเคยประกาศเพดานราคาน้ำมันดิบของรัสเซียไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี่เอง แล้วก็ได้ผลไม่น้อย

ชาติพันธมิตรตะวันตกทำให้การกำหนดเพดาน หรือจำกัดราคาน้ำมันของรัสเซียเป็นไปได้ โดยการห้ามจากบริษัทประกันภัย, บริษัทที่เป็นเจ้าของเรือบรรทุกน้ำมัน และกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลำเลียงน้ำมันสู่ตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา

หรือไม่ก็ในยุโรป ไม่ให้รับประกันหรือขนส่งน้ำมันให้กับรัสเซียที่ซื้อขายกันในราคาสูงกว่าราคาเพดานที่กำหนด แต่จะดำเนินการได้ต่อเมื่อราคาน้ำมันรัสเซียอยู่ในระดับต่ำกว่า หรือเท่ากับเพดานราคาที่กำหนด

เปิดโอกาสให้น้ำมันจากรัสเซียสามารถส่งออกไปยังบางประเทศ อย่างเช่น จีน หรืออินเดียได้ ทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลน หรือแย่งกันซื้อจนราคาพุ่งสูง แต่ในเวลาเดียวกันก็ลดปริมาณเงินรายได้จากการขายน้ำมันของรัสเซียลง เป็นการ “จำกัด” งบประมาณทำสงครามไปในตัว

รัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่รายได้จากการขายน้ำมันลดลงมาก หลังจากยุโรปแบนน้ำมันดิบ และรัสเซียเองตัดสินใจเลิกส่งก๊าซธรรมชาติให้กับยุโรปเป็นการตอบโต้ก่อนหน้านี้

เท่าที่ทำได้ในเวลานี้ก็คือ ต้องเปลี่ยนเส้นทางส่งออกน้ำมันของตนไปยังประเทศอย่าง อินเดีย, จีน หรือประเทศในเอเชียอื่น ๆ และต้องส่งออกในราคาลดพิเศษอีกด้วย

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ รวมทั้ง “ซีโมน ทาเกลียพีตรา” ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายน้ำมันจากสถาบันวิชาการอิสระ บรูเกล ในเบลเยียม เชื่อว่าการจำกัดราคาไม่ให้เกิน 60 ดอลลาร์ ส่งผลกระทบต่อรัสเซียก็จริง แต่ก็ไม่มากมายนัก เพราะในเวลานี้รัสเซียก็ขายน้ำมันดิบของตนอยู่ในราคาระดับนี้หรือต่ำกว่าอยู่แล้ว

แต่ข้อดีของการจำกัดเพดานราคาก็คือ ชาติตะวันตกสามารถปรับลดเพดานลงได้อีก เพื่อบีบคั้นรัสเซียเพิ่มมากขึ้น หรือเมื่อเงื่อนไขของตลาดเหมาะสม

รัสเซียเชื่อว่าสามารถรักษาสมดุลงบประมาณรายรับรายจ่ายของตนอยู่ได้หากราคาน้ำมันอยู่ระหว่าง 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่จะเริ่มมีปัญหาหากราคาลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50 ดอลลาร์หรือต่ำกว่านั้น

แต่ถ้าต้องขายในราคาต่ำถึง 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อไหร่ “โรบิน บรูกส์” หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำสถาบันเพื่อการเงินระหว่างประเทศในวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เชื่อว่ารัสเซียจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินขึ้นมาทันที

รัสเซียอาจตอบโต้การแซงก์ชั่นด้วยการงดการส่งออกน้ำมัน เพื่อดึงให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น แต่ก็เสี่ยงต่อการสูญเสียตลาดน้ำมันของตนเอง และอาจส่งผลให้ถึงกับต้องปิดบ่อน้ำมัน
หลายแห่ง ซึ่งรัสเซียพยายามหลีกเลี่ยง เพราะกว่าจะกลับมาผลิตน้ำมันใหม่อีกครั้งยากเย็นไม่น้อย

รัสเซียอาจหันไปใช้บริการกิจการลำเลียงน้ำมันนอกกฎหมาย ที่เรียกกันในแวดวงน้ำมันว่า “ดาร์กฟลีต” แต่ต้องแย่งกันใช้บริการกับอิหร่านและเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นเจ้าประจำอยู่ก่อนแล้ว

มาเรีย ชากินา ผู้เชี่ยวชาญด้านแซงก์ชั่นในเบอร์ลินชี้ว่า ก็อาจเป็นไปได้ แต่นอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองเวลามากขึ้นแล้ว ยังทำให้ต้นทุนขนส่งน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าการแซงก์ชั่นรอบใหม่ทำให้ตลาดน้ำมันช่วงต้นปีนี้ตึงตัวขึ้น “จนสังเกตได้” แน่นอน และภูมิภาคที่จะกระทบหนักก็คือยุโรปที่ต้องควานหาดีเซลจากแหล่งใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาหรือตะวันออกกลางมาทดแทน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน