สิ้นสุดพักหนี้รถยึด 1.8 แสนคัน ผ่อนต่อไม่ไหว-ล้นลานประมูล

รถยึด สิ้นสุดพักหนี้

ธุรกิจลานประมูลคึกคัก คาดยอดรถยึดปีนี้พุ่งแตะ 1.5-1.8 แสนคัน หลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทยอยหมดลง สถาบันการเงินโหมปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ “แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น” คาดสถานการณ์รถยึดดีดกลับสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนโควิด ฟาก “SIA” แจงเริ่มเห็นสัญญาณรถยึดพุ่งตั้งแต่ไตรมาสแรก “ธนาคารเกียรตินาคิน” ชี้หากช่วยแล้ว 4 ครั้ง ลูกค้ายังชำระไม่ไหวก็ต้องยึด

นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดการประมูลรถรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2566 นี้ ที่คาดว่าจะขยายตัวมากขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลงและรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามากระตุ้นตลาดให้ตื่นตัว ทำให้สถาบันการเงินแข่งกันปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมากขึ้น

จึงคาดว่าภาพรวมตลาดรถยึด รวมถึงการคืนรถ สู่ธุรกิจลานประมูล น่าจะคึกคักตามอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่คาดว่าจะมีมากขึ้นจะส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีโอกาสจะเร่งขึ้น ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะทยอยหมดลง จะส่งผลให้หนี้เสียเพิ่มขึ้น

ตัวเลขยึดรถแนวโน้มเพิ่ม

นายอนุชาติกล่าวว่า จากทิศทางดังกล่าวประเมินว่า ปี 2566 จะมีรถไหลเข้าสู่ลานประมูล กลับเข้าสู่ระดับปกติเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 หรือประมาณ 1.5-1.8 แสนคัน จากปีที่แล้วที่มีรถยึดเข้ามาประมาณ 1.2 แสนคัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ปีที่ผ่านมามาตรการช่วยเหลือของ ธปท.ยังมีอยู่ ทำให้สถาบันการเงินชะลอการยึดรถ

แต่สำหรับปีนี้หลังมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลง จะส่งผลให้การยึดรถและรถที่เป็นหนี้เสียไหลเข้าลานประมูลมากขึ้น นอกจากนี้ การท่องเที่ยวที่กลับมา บริษัทรถเช่าก็อาจจะปล่อยรถเข้าลานประมูลมากขึ้น

สำหรับแอพเพิล ออโต้ฯเอง ตั้งเป้ารายได้จากการประมูลขายรถปีนี้อยู่ที่ 500-600 ล้านบาท หรือเติบโต 3-5% จากประมาณการว่าจะมีรถเข้าสู่ลานประมูลของบริษัทประมาณ 5-6 หมื่นคัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ราว 25-30% ของตลาดรถยึดทั้งหมด และบริษัทจะเพิ่มพื้นที่โกดังเก็บรถในภาคอีสานอีก 1-2 แห่ง เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในปีนี้

“ตลาดรถยึดปีนี้คงคึกคักไปตามอุตสาหกรรมเช่าซื้อ เพราะยอดขายรถเยอะ แบงก์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสที่รถเก่าจะ turn over สูง ขณะเดียวกันมาตรการปรับโครงสร้างหนี้หมดแล้ว น่าจะทำให้เทรนด์รถไหลเข้าลานประมูล กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากก่อนหน้านี้ทุกอย่างชะลอลงในช่วงโควิด”

สิ้นสุดมาตรการพักหนี้ตัวแปร

นายชุมพล กิตติชัยสมบัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามอินเตอร์ การประมูล จำกัด (SIA) กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า คาดว่าตลาดรถยึดเข้าลานประมูลทั้งระบบปีนี้น่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 20-30% จากปี 2565 เนื่องจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ อย่างการพักชำระหนี้ กำลังจะหมดลงในกลางปีนี้

จากแนวโน้มรถยึดที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าทำยอดประมูลขายรถเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จากเดิมจะมียอดอยู่ที่ 2,500-3,000 คันต่อเดือน จากปีก่อนไม่ถึง 2,000 คันต่อเดือน โดยทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นคัน ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยตั้งเป้ากำไรหลังจากหักภาษีแล้วอยู่ที่ 130 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไรอยู่ที่ 85-90 ล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์ SIA หลัก ๆ ยังคงเดินหน้าขยายพันธมิตร ที่ปัจจุบันมีกว่า 100 ราย ซึ่งปีนี้จะขยายไปสู่ผู้ประกอบการไฟแนนซ์ท้องถิ่น (local finance) เพื่อเพิ่มปริมาณธุรกรรมที่ส่งให้บริษัทมากขึ้น รวมถึงการขยายพื้นที่ลานประมูลและสถานที่รับรถเพิ่มขึ้นตามต่างจังหวัดจากปัจจุบันมีเพียง 37 แห่ง จะเพิ่มเป็น 45 แห่งในปีนี้ จากที่ผ่านมาบริษัทเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) เกือบครบทั้งหมดแล้ว

“ตั้งแต่ต้นปี เราก็เริ่มเห็นรถยึดไหลเข้าลานประมูลอย่างต่อเนื่อง เพราะมาตรการเยียวยาทั้งหลายเริ่มทยอยหมด คิดว่ารถยึดก็น่าจะมีมากขึ้น ซึ่งเราเองก็ตั้งเป้าเติบโต 1 เท่า และในอนาคตเราจะแตกไลน์ธุรกิจ เช่น การร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จัดประมูลทรัพย์สินประเภทอื่น อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน ฯลฯ เพื่อหารายได้ แต่ธุรกิจหลักของเรายังคงเป็นพอร์ตรถและจักรยานยนต์”

ตัวเลขยึดรถ 2.5 พันคัน/เดือน

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า สถานการณ์รถยึด หรือการคืนรถยนต์ของแบงก์ จะปรับเปลี่ยนขึ้นลง ตามปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และพอร์ตสินเชื่อของธนาคารเป็นหลัก เนื่องจากพอร์ตธุรกิจเช่าซื้อของ KKP กว่า 60% เป็นรถเก่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะได้รับผลกระทบทั้งจากเศรษฐกิจและภาวะตลาดโดยรวม ทำให้อัตราการยึดรถจะสูงกว่ารถยนต์ใหม่

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ทยอยฟื้น โดย KKP Research คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัว 3.6% ธนาคารจึงคาดหวังว่าอัตราการยึดรถและคืนรถในปีนี้สูงสุดจะไม่เกิน 2,000-2,500 คันต่อเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่มากนักและเป็นการเพิ่มขึ้นตามพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่สูงขึ้น

“จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาตามการเปิดประเทศ ลูกค้าที่ขอความช่วยเหลือผ่านมาตรการเริ่มทยอยลดลง เราก็หวังว่าสถานการณ์รถยึดไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ขึ้นกับวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยในแต่ละเดือน แต่ในกรณีลูกค้าที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ แล้ว 4 ครั้ง แล้วลูกค้ายังไม่สามารถกลับมาชำระได้ กลุ่มนี้ธนาคารจะเข้าไปขอยึดรถแทน” นายฟิลิปกล่าว