จับตา “เพดานหนี้” สหรัฐ เตรียมเขย่าโลกอีกครั้ง

เพดานหนี้สหรัฐ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเผชิญกับปัญหา “เพดานหนี้” มาแล้วหลายครั้งในช่วงหลายปีหลังมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่พรรคการเมืองหนึ่งครองอำนาจบริหารประเทศอยู่ในทำเนียบขาว แต่อีกพรรคกุมอำนาจอยู่ในรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบในการขยายเพดานหนี้ออกไป เพื่อให้รัฐบาลสามารถกู้เงินเพิ่มเติมมาใช้บริหารประเทศได้ต่อไป

ไม่ต้อง “ผิดนัดชำระหนี้” ซึ่งจะก่อให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจขึ้นตามมา

ในช่วง 20 ปีหลังมานี้กรณีการใช้ “เพดานหนี้” มาเป็นเครื่องต่อรองทางการเมืองขึ้นอย่างน้อย 9 ครั้งด้วยกัน แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังไม่เคยต้อง “ดีฟอลต์” มาก่อน

ครั้งที่ร้ายแรงที่สุด หวุดหวิดจวนเจียนที่สุดในระยะหลังนี้ เกิดขึ้นในปี 2011 เมื่อครั้งที่ “บารัก โอบามา” จากพรรคเดโมแครต ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในรัฐสภาสหรัฐ

เจรจาต่อรองกันจนเหลือเวลาห่างจากเส้นตายเพียงไม่กี่วัน จึงสามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ แต่ก็เล่นเอารัฐบาลต้องปิดทำการหน่วยงานที่ไม่จำเป็นไปหลายวัน และส่งผลให้สหรัฐอเมริกาถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ปัญหาเพดานหนี้ครั้งใหม่เกิดขึ้นเมื่อ “เจเนต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังประกาศเมื่อ 19 มกราคมที่ผ่านมาว่า สหรัฐอเมริกาก่อหนี้เต็มเพดาน 31.381 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว จนทำให้ตนเองต้องหันมาใช้ “มาตรการพิเศษ” ทางบัญชี เพื่อรักษา “เงินสด” เอาไว้ในมือ
ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

มาตรการพิเศษที่ว่านี้ ซึ่งว่ากันว่ากลายเป็น ช่วยหล่อเลี้ยงให้การดำเนินงานของรัฐบาลยังคงเป็นไปได้ต่อไปอีกหลายเดือน จนกว่าจะถึงจุดวิกฤต ซึ่งคาดกันว่าน่าจะเป็นช่วงกลางปีนี้

ในช่วงเวลาระหว่างนั้น รัฐบาลประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” คาดหวังว่าจะได้รับความเห็นชอบจากสภาให้ขยายเพดานหนี้ออกไป เพื่อไม่ให้การบริหารงานต้องชะงักงันและกลายเป็นปัญหาขึ้นมา

แต่บรรดาผู้สันทัดกรณีเชื่อว่าการเจรจาต่อรองระหว่างทำเนียบขาวกับสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาในคราวนี้ มีแนวโน้มที่จะ “ดราม่า” ไม่แพ้เมื่อปี 2011 หรือไม่ก็อาจเลวร้ายยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป

ปัญหาคราวนี้อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ และมีเควิน แม็กคาร์ธี ดำรงตำแหน่งประธาน

ที่น่าสนใจก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า กว่าจะได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แม็กคาร์ธีต้องผ่านการโหวตของ ส.ส.รีพับลิกันด้วยกันซ้ำแล้วซ้ำอีกถึง 15 รอบ เพราะเหล่า ส.ส.รีพับลิกันที่เป็นพวก “ฮาร์ดไลน์” ทั้งหลายปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุน

จนกระทั่งแม็กคาร์ธีต้องยอมรับเงื่อนไขของบรรดา ส.ส.เหล่านั้น ซึ่งรวมถึงการต่อรองเงื่อนไขให้รัฐบาลเดโมแครตต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายและวางแนวทางทำให้งบประมาณสมดุลภายใน 10 ปี เพื่อแลกเปลี่ยนกับการขยายเพดานหนี้

สภาพที่ว่านี้ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองอเมริกันชี้ว่า สะท้อนให้เห็นความแตกแยกเป็นฝักฝ่าย เป็นก๊วนภายในพรรครีพับลิกันอย่างชัดเจน ขาดผู้นำที่มีบารมีพอที่จะทำให้ทุกคนอยู่ในแถว ในขณะที่แต่ละฝ่ายพร้อมที่จะฝืนมติพรรคตราบเท่าที่เงื่อนไขที่กลุ่มตนพอใจไม่ได้รับการตอบสนอง

การเจรจาต่อรองในสภาพเช่นนี้ยากเย็นแสนเข็ญ และแม้ตัวแทนเจรจาจะตกลง แต่มติในสภาพร้อมที่จะพลิกผันได้ตลอดเวลา

นี่เองที่ทำให้ “ไมเคิล เฟโรลี” นักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกน ระบุเมื่อปลายเดือนมกราคมว่า ประเด็นการต่อรองเรื่องเพดานหนี้ครั้งนี้อาจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปี 2023 นี้

หลายคนเห็นพ้องด้วย นักวิเคราะห์บางราย รวมทั้งอเล็ก ฟิลิปปส์ ของโกลด์แมน แซกส์ และพาโบล วิลลานูวา แห่งยูบีเอส ชี้ว่า ที่ต่างออกไปในทางที่แย่กว่าเมื่อปี 2011 ก็คือ ในตอนนี้สหรัฐอเมริกามีหนี้สูงกว่า แถมดอกเบี้ยก็ยังสูงกว่ามากอีกด้วย

ถ้าหากสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้อง “ดีฟอลต์” จริง ๆ สารพัดสิ่งเลวร้ายจะเกิดขึ้นทันตาเห็น ตลาดหุ้นดิ่งเหว, ต้นทุนกู้ยืมพุ่งพรวด, การขยายตัวทางเศรษฐกิจฟุบ แม้กระทั่งสถานะของเงินสกุลดอลลาร์ยังสั่นคลอน

ที่สำคัญก็คือ สิ่งเหล่านี้จะไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่จะลุกลามไปยังตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก

รัฐมนตรีคลังอย่างเจเนต เยลเลนเอง ยอมรับกับสื่ออย่างตรงไปตรงมาว่า “เครียด” กับปัญหาเพดานหนี้ครั้งนี้ และชี้ว่าในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น “วิกฤตการเงิน” ในสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้นตามมา ต่อด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะดิ่งลึกมากขึ้น ในขณะที่รัฐบาลตกอยู่
ในสภาพทำอะไรไม่ได้

เยลเลนยืนยันว่า ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เกิดโกลาหลไปทั่วโลกได้เลยทีเดียว