KTC-AEONTS ตีปีกรับ ธปท. จ่อขยายเพดานดอกเบี้ย

KTC-AEONTS

บล.หยวนต้า ประเมิน “KTC- AEONTS-แบงก์พาณิชย์” รับอานิสงส์ “คลัง-ธปท.” เตรียมขยับขึ้นเพดานสินเชื่อรายย่อยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกค้า คาดกระตุ้นให้น็อนแบงก์กล้าปล่อยกู้กลุ่มเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงจะเห็นภาพการแข่งขยายพอร์ตสินเชื่อไม่มีหลักประกันดุเดือดขึ้น

จากกรณีที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวทางผลักดันให้ผู้ประกอบการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk based pricing)

โดยมีแนวคิดจะขยับเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยเหล่านี้ให้สูงขึ้น เพื่อให้มีความสามารถเปิดรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามาในระบบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนั้น

นายตฤณ สิทธิสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากแนวทางดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าจะเห็นผู้ประกอบการสินเชื่อไม่มีหลักประกันกล้าปล่อยกู้มากขึ้น

เพราะสินเชื่อเหล่านี้เป็นสินเชื่อรายย่อย ถ้ามีฐานลูกค้าที่ใหญ่พอ สุดท้ายแล้วความเสี่ยงจะถูกถัวเฉลี่ยไป เพราะผู้ประกอบการสามารถปรับคิดดอกเบี้ยแพงขึ้นกับกลุ่มลูกค้าเสี่ยงสูงได้

ดังนั้น เชื่อว่าในแง่การเติบโตสินเชื่อ (loan growth) คงจะโตดีไปพร้อม ๆ กับผลตอบแทนที่ดีขึ้น แต่แน่นอนว่าหนี้เสีย (NPL) อาจจะมีเพิ่มขึ้นบ้าง แต่อย่างไรก็ดี หากสินเชื่อเติบโตได้เร็วกว่า ก็จะชดเชยได้ ซึ่งพอคิดคำนวณออกมาเป็นอัตราส่วนเอ็นพีแอลต่อพอร์ตสินเชื่อรวมเชื่อ คงไม่ได้เพิ่มมาก

“เราประเมินว่า บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) และ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากมาตรการนี้ เพราะมีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อไม่มีหลักประกันกว่า 90% รองลงมาเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์อย่างธนาคารกรุงไทย (KTB), เอสซีบี เอกซ์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB)”

ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจจำนำทะเบียนรถ อาทิ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC), บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) อาจจะได้ประโยชน์น้อยสุด เพราะมีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อไม่มีหลักประกันแค่ 5% แต่อย่างไรก็ดี ในอนาคตคาดว่าจะเห็นผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (nonbank) หันมาสนใจขยายพอร์ตสินเชื่อไม่มีหลักประกันมากขึ้น เพื่อชดเชยต้นทุนดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น

ตฤณ สิทธิสวัสดิ์
ตฤณ สิทธิสวัสดิ์

“ในเบื้องต้น เราอาจยังไม่ได้ให้น้ำหนักต่ออัพไซด์กำไรของแต่ละบริษัท เพราะต้องสอบถามนโยบายแต่ละบริษัทก่อน ว่ามีแนวทางปรับ pricing ให้แตกต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง ซึ่งคาดว่าคงจะมีออกมาทั้ง 2 ด้าน คือ 1.คิดดอกเบี้ยแพงขึ้นกับกลุ่มลูกค้าเสี่ยงสูง

และ 2.คิดดอกเบี้ยถูกลงกับกลุ่มลูกค้าคุณภาพดี ซึ่งจะต้องขอพิจารณาจากสัดส่วนลูกค้าสองกลุ่มนี้ในแต่ละบริษัทก่อนว่าเป็นอย่างไร รวมไปถึงศักยภาพลูกค้าที่อยากจะปล่อยกู้มีมากแค่ไหน”

นายตฤณกล่าวว่า ภาพรวมในช่วงแรกคาดว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ น่าจะเริ่มต้นจากการปล่อยกู้ให้กลุ่มลูกค้าเสี่ยงสูงโดยคิดดอกเบี้ยแพงขึ้น เพื่อหวังดึงกลุ่มลูกค้าใหม่เข้ามาก่อนมากกว่าให้ส่วนลดลูกค้าเดิม

โดยมาตรการนี้สะท้อนมุมมองภาครัฐว่า หากควบคุมดอกเบี้ยมากไป ผู้ประกอบการก็ไม่กล้าปล่อย เพราะความเสี่ยงไม่คุ้มกับผลตอบแทน แต่ถ้ามาทำเป็น risk based pricing สามารถคิดดอกเบี้ยแพงขึ้นตามความเสี่ยงลูกค้าได้ น่าจะเป็นกลไกที่ทำให้คนที่เข้าไม่ถึงระบบการเงินสามารถใช้บริการทางการเงินในระบบได้มากขึ้น และทำให้ความมีส่วนร่วมทางการเงินในภาพรวมของประเทศปรับตัวดีขึ้นได้

ทั้งนี้ เชื่อว่าต่อไปทาง ธปท.อาจจะนำไปใช้กับสินเชื่อประเภทอื่นด้วย เช่น จำนำทะเบียนรถ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นบวกต่ออุตสาหกรรมมากขึ้น หลังจากโดนกดดันมา 2 ปีตั้งแต่ช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19

“เราประมาณการกำไรปี 2566 สำหรับ KTC ไว้ที่ 7,942 ล้านบาท เติบโต 12.2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ให้ราคาเป้าหมายสิ้นปีนี้ที่ 68 บาท ส่วน AEONTS คาดการณ์กำไรอยู่ที่ 4,887 ล้านบาท เติบโต 14.8% ให้ราคาเป้าหมาย 230 บาท โดยทั้งสองบริษัทจะโตตามการบริโภคและเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงการตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลง”


สำหรับเพดานดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดไว้ในปัจจุบัน ประกอบด้วย พิโกไฟแนนซ์ วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 36% นาโนไฟแนนซ์ วงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 33% และสินเชื่อบุคคล (พีโลน) ดอกเบี้ยไม่เกิน 25%