เปิดอาณาจักร สินเชื่อรายย่อย SCBX ประชัน KBank

KBank SCBX พอร์ตสินเชื่อ

ปัจจุบันธุรกิจสินเชื่อรายย่อย เป็นตลาดที่สถาบันการเงินให้ความสนใจเข้ามารุกตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราผลตอบแทน (มาร์จิ้น) ที่จูงใจ เพราะคิดดอกเบี้ยได้สูง และยังสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย ธนาคารต่าง ๆ จึงพยายามขยายฐานสินเชื่อประเภทนี้ ผ่านการแตกบริษัทลูกออกมา หรือร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) เพื่อให้การทำธุรกิจคล่องตัวขึ้น

โดยจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ธุรกิจสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับ ณ เดือน ธ.ค. 2565 ธนาคารพาณิชย์ และน็อนแบงก์ มีจำนวนบัญชีรวมทั้งสิ้น 22,463,695 บัญชี ยอดสินเชื่อคงค้าง 849,152 ล้านบาท

สินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน (เอ็นพีแอล) 36,650 ล้านบาท และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) มีจำนวน 1,852,679 บัญชี ยอดสินเชื่อคงค้าง 33,486 ล้านบาท และเอ็นพีแอล 2,433 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มแบงก์ใหญ่ที่มีการแตกบริษัทย่อย เพื่อลงไปเล่นในตลาดสินเชื่อรายย่อยนี้ค่อนข้างมาก ได้แก่ กลุ่ม “บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)” หรือ SCBX ยานแม่ของ “ธนาคารไทยพาณิชย์” กับฝั่งแบงก์สีเขียว “ธนาคารกสิกรไทย”

ยานแม่แตกบริษัทลูกชิงรายย่อย

โดยในส่วนของไทยพาณิชย์ มีการแยกพอร์ต “สินเชื่อบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล” ไปอยู่ภายใต้ “บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด” เมื่อปลายปี 2564 และได้วางเป้าหมายภายใน 3 ปี จะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาดธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ด้วยฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านราย และพอร์ธุรกิจอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อสร้างกำไรให้ได้มากกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี

ภายใต้ยานแม่ยังมี “บริษัท มันนิกซ์ จำกัด” ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง “ธนาคารไทยพาณิชย์” กับ “AbakusGroup” ฟินเทคของประเทศจีน ที่เน้นปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่น “ฟินนิกซ์” (FINNIX)

โดยผลิตภัณฑ์หลัก เป็น “สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์” และ “สินเชื่อส่วนบุคคล” โฟกัสกลุ่มลูกค้า ที่ไม่มีเอกสารทางการเงิน กลุ่มที่มีรายได้ 8,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และกลุ่มมนุษย์เงินเดือน

ซึ่งในส่วน “สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์” จะให้วงเงินกู้ สูงสุด 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 2.75% ต่อเดือน หรือลดต้นลดดอกอยู่ที่ 33% ต่อปี ขณะที่ “สินเชื่อส่วนบุคคล” ให้วงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ หรือสูงสุด 1.5 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.99% ต่อปี โดย ณ สิ้นปี 2565 มียอดดาวน์โหลดแอปอยู่ที่ 8 ล้านครั้ง มีลูกค้าอยู่ที่ 6.5 แสนราย ยอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท

ตาราง สินเชื่อรายย่อย

นอกจากนี้ ยังมี “เอสซีบี อบาคัส” (SCB Abacus) บริษัทที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน (alternative data) เพื่อปล่อยสินเชื่อดิจิทัลผ่านแอป “เงินทันเด้อ”

เจาะกลุ่มลูกค้าอาชีพอิสระ คนเครดิตน้อย ตั้งเป้าภายในปี 2567 ช่วยคนที่เข้าถึงระบบการเงินได้ยากให้เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น 10% และก้าวเป็นผู้นำนวัตกรรมสินเชื่อดิจิทัลระดับอาเซียน

ทั้งนี้ มีโปรดักต์สำคัญคือ “สินเชื่อตั้งหลัก” ซึ่งเป็น “สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์” ให้วงเงินสูงสุด 1 แสนบาท คิดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 9.9-33% ต่อปี และมี “สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อเงินสด” ให้วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 9.9-25% ต่อปี อนุมัติไวภายใน 10 นาที ผ่อนนานสูงสุด 60 เดือน

นอกจากนี้ “ไทยพาณิชย์” ยังแยก “สินเชื่อมีหลักประกัน” อย่าง “สินเชื่อรถยนต์” ออกมาอยู่ภายใต้ “บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด” โดยทำตลาดในชื่อแบรนด์ “เงินไชโย” ให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนเป็นหลักประกัน และวงเงินหมุนเวียน มีสาขากว่า 1,200 แห่ง ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท ฐานลูกค้า 8 หมื่นราย

รวมถึงยังมี “บริษัท อัลฟา เอกซ์ จำกัด” (ALPHA X) บริษัทร่วมทุน ระหว่าง “ธนาคารไทยพาณิชย์” กับ “กลุ่มธุรกิจ มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเซีย) หรือเอ็มจีซี-เอเซีย” ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่ง และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ เจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยม ลักเซอรี่ ครอบคลุมรถยนต์ บิ๊กไบก์ เรือยอชต์ และริเวอร์โบ๊ต

กสิกรฯผนึก “เงินเทอร์โบ”

ด้าน “ธนาคารกสิกรไทย” ก็มีน็อนแบงก์ในมืออย่าง “บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด” หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางภายใต้แบรนด์ “LINE BK” ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง “ธนาคารกสิกรไทย” ที่ลงทุนผ่าน “บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด” กับ “บริษัท ไลน์ คอร์ป” ที่ลงทุนผ่าน “บริษัท ไลน์ ไฟแนนเซียล เอเซีย” ด้วยทุนจดทะเบียน 2,200 ล้านบาท และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยตั้งเป้าเป็น “social banking” รายแรกในไทย

ทั้งนี้ “LINE BK” มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมตั้งแต่เงินฝาก บัตรเดบิต สินเชื่อส่วนบุคคล นาโนไฟแนนซ์ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยกำหนดตามเพดานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งผลประกอบการล่าสุด ณ สิ้นปี 2565 มียอดผู้ใช้งานกว่า 5.3 ล้านราย

มีวงเงินให้กู้ยืมกว่า 6 แสนบัญชี มียอดสินเชื่อคงค้างกว่า 5 หมื่นล้านบาท และภายในปี 2566 ตั้งเป้าเพิ่มผู้ใช้งานเป็น 1 ล้านราย นอกจากนี้ บริษัทกำลังจะขยายไปสู่ธุรกิจนายหน้าประกัน (โบรกเกอร์ประกัน) อีกด้วย

ล่าสุด ไม่นานมานี้ “ธนาคารกสิกรไทย” ยังให้ “บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด” เข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน “บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด” จำนวน 11.111 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% เพื่อสนับสนุนการเติบโตของ “เงินเทอร์โบ” ในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อดิจิทัล นายหน้าประกันชีวิตและประกันวินาศภัย และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

ซึ่ง “เงินเทอร์โบ” วางแผนธุรกิจในปี 2566 ตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างรวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโตกว่า 50% จากปี 2565 และตั้งเป้าการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1,000 สาขา

นอกจากนี้ แบงก์สีเขียวยังมี “บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด” (KLeasing) ที่ให้บริการสินเชื่อรถใหม่ สินเชื่อรถใช้แล้ว สินเชื่อรถช่วยได้ ประเภทโอนเล่มทะเบียน และประเภทจำนำทะเบียนรถอีกด้วย