ตลาดผันผวนกับสถานการณ์การเงินในยุโรป จับตาการประชุม ECB

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ตลาดผันผวนกับสถานการณ์การเงินในยุโรป นักลงทุนกังวลกับวิกฤตของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse Bank) ขณะที่ตลาดจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB คืนนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/3) ที่ระดับ 34.54/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/3) ที่ระดับ 34.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนปรับเพิ่มคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 34.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50-4.75% และให้น้ำหนัก 65.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% หลังจากมีความกังวลเรื่องวิกฤตของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank)

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนวานนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไป (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวจากระดับ 5.7% ในเดือนมกราคม และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปลดลง 0.1% ชะลอตัวจากระดับ 0.3% ในเดือนมกราคม

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยยอดค้าปลีกที่ปรับตัวลดลง 0.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวลดลง 0.3% หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2% ในเดือนมกราคม ยอดค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์ชะลอตัวจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.41-34.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.44/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/3) ที่ระดับ 1.0590/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/3) ที่ระดับ 1.0679/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าเนื่องจากนักลงทุนกังวลกับวิกฤตของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse Bank) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ มีผลขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลอดทั้งปีอยู่ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์

อีกทั้งธนาคารซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ (Saudi National Bank) หรือ SNB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเครดิต สวิส ประกาศว่า SNB ไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อเครดิต สวิส ได้ เนื่องจากจะทำให้ SNB ถือหุ้นมากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบธนาคาร

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารเครดิต สวิส ถือเป็นการซ้ำเติมความกังวลจากการที่รัฐบาลสหรัฐ สั่งปิดกิจการของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ และ FINMA ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ให้คำมั่นว่าจะจัดหาสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือธนาคารเครดิตสวิส หลังจากราคาหุ้นของธนาคารทรุดตัวลงอย่างหนัก

นอกจากนี้ นักลงทุนรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในคืนวันนี้ (16/3) โดยนักลงทุนคาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0571-1.0635 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0607/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/3) ที่ระดับ 133.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/3) ที่ระดับ 134.14/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าลงอย่างมากในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับธนาคารเครดิตสวิส

อีกทั้งการคาดการณ์ของตลาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25% หรืออาจคงอัตราดอกเบี้ยนั้น ยังหนุนค่าเงินเยนอีกด้วย เนื่องจากความต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐ (Yield Sperad) มีแนวโน้มว่าจะไม่เพิ่มไปมากกว่านี้นัก

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงใช้นโยบายแบบผ่อนคลายโดยยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป นอกจากนี้เงินเยนได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่แข็งแกร่ง โดยยอดคำสั่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องจักรเพิ่มขึ้น 9.5% ในเดือนมกราคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 1.5% และมากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 1.6% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.48-133.49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.78/80 เยน/ดอลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก สหรัฐ (16/3), รายงานใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน สหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (16/3), รายงานดัชนีการผลิตจากธนาคารกลางสหรัฐ รัฐฟิลาเดลเฟีย (16/3), อัตราดอกเบี้ยนโยบายยูโรโซน (16/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน เดือนกุมภาพันธ์ (17/3), รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือนมีนาคม (17/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -12.00/-11.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.00/-8.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ