แบงก์ล้ม โจทย์ยากลงทุน 3 กูรูแนะจัดพอร์ตหนีหุ้น “สหรัฐ-ยุโรป”

กูรูตลาดหุ้น

โลกการลงทุนช่วงนี้ทวีความผันผวน และเจอโจทย์ยากมากยิ่งขึ้น เมื่อเกิดสถานการณ์ธนาคารพาณิชย์ล้มละลายขึ้นในสหรัฐอเมริกา ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐตกหนัก ลามมาถึงตลาดหุ้นไทย ขณะที่ล่าสุด ปัญหาก็ปะทุขึ้นในยุโรปอีก จากเคสของสถาบันการเงินขนาดใหญ่อย่าง “เครดิตสวิส” ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าจะมีแบงก์อีกหลายแห่งมีปัญหาตามมา และอาจจะกลายเป็นชนวนของวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่

ซึ่งขณะนี้เริ่มมีเสียงเตือนชะลอการลงทุนในหุ้นและกองทุนหุ้นสหรัฐ กับยุโรปออกมา ดังนั้น นักลงทุนคงต้องจัดพอร์ตใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น

ธนาคารกลาง “เอาอยู่”

โดย “ประกิต สิริวัฒนเกตุ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า ปัญหา regional banks หรือธนาคารท้องถิ่นในสหรัฐ ตอนนี้ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐ (FDIC) รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่องให้ ซึ่งคาดว่าน่าจบลงได้ ถัดมาคือกรณีเครดิตสวิส ล่าสุดทางธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ก็ประกาศพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากไม่สามารถที่จะยอมให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่แห่งนี้ล้มลงได้

“เชื่อว่าตอนนี้ทุกฝ่ายพยายามจะควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ เพราะการที่ปล่อยให้ล้มจะทำให้ความน่าเชื่อถือลดลงไปด้วย ซึ่งไม่ดีอย่างมากต่อธุรกิจภาคการเงิน”

“ประกิต” กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่จะมีการประชุมในอีกไม่กี่วันนี้ มองว่าน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ที่ 0.25% พร้อมกับส่งสัญญาณอุ้มระบบการเงิน ในการที่จะเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารท้องถิ่น

“การจัดพอร์ตลงทุนระยะนี้ แนะนำแบ่งสัดส่วนลงทุนในหุ้น 50-60% โดยเลี่ยงหุ้นสหรัฐและยุโรปไปก่อน สามารถลงทุนหุ้นไทย หุ้นจีน และหุ้นเวียดนามได้ และลงสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำประมาณ 20% รวมถึงตราสารหนี้ประมาณ 10-20%” ประกิตกล่าว

เพิ่มความเปราะบางเศรษฐกิจ

ขณะที่ “บดินทร์ พุทธอินทร์” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบจากธนาคารสหรัฐที่ปิดตัวมีโอกาสเกิดแบงก์รัน แต่ค่อนข้างที่จะจำกัด รวมถึงธนาคารเครดิตสวิสที่ตลาดกำลังกังวลว่าอาจจะตามรอย Silicon Valley Bank (SVB) ในสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างความเปราะบางที่มากขึ้นในเรื่องของความมั่นใจในการเติบโตของเศรษฐกิจ และการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของทั้งสหรัฐและยุโรป ดังนั้น แน่นอนว่าตลาดน่าจะยังคงผันผวนในระยะหนึ่ง

ซึ่งมองไปข้างหน้าคาดว่าธนาคารกลางต่าง ๆ น่าจะลดความรุนแรงของการขึ้นดอกเบี้ย ฉะนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะค่อย ๆ ปรับลดลง กลุ่มที่ได้ประโยชน์คือตราสารหนี้คุณภาพสูงระดับ investment grade และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ขณะที่กลุ่มที่ต้องเลี่ยงคือ หุ้นในสหรัฐในหลายกลุ่ม ๆ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ซึ่งนักลงทุนสามารถหันไปทยอยลงทุนในหุ้นจีนได้

“แนะนำปรับพอร์ต แบ่งออกเป็น 3 แบบ สำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ให้ลงหุ้น 20% ตราสารหนี้ 80% คนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางให้ลงหุ้นประมาณ 50% ตราสารหนี้ 50% ส่วนคนที่รับความเสี่ยงได้สูงให้ลงหุ้นประมาณ 80% และตราสารหนี้ 20% ทั้งนี้ ทองคำแนะนำมีติดพอร์ตไว้ประมาณ 5% เพื่อกระจายความเสี่ยง” บดินทร์กล่าว

ด้าน “ชยนนท์ รักกาญจนันท์” ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนฟินโนมีนา จำกัด กล่าวว่า ตลาดมีความกังวลมากว่าเครดิตสวิสจะมีปัญหา เพราะเป็นธนาคารที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่า Silicon Valley Bank (SVB) ถึงแม้ปัญหาจะมาจากคนละมุม แต่มาในช่วงจังหวะเดียวกัน ความกังวลจึงมากขึ้น

ดังนั้น ปัจจุบันตลาดน่าจะยังคงปรับฐานอยู่ แต่ต้องตามดูต่อว่าตลาดปรับฐานลงแล้ว ธนาคารกลางต่าง ๆ มองปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่แค่ไหน ถ้ามองเป็นเรื่องใหญ่ก็น่าจะมีมาตรการอะไรเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดในระยะข้างหน้า

ลุ้นเฟดตัดสินใจดอกเบี้ย

ซึ่งหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% แปลว่าเฟดมองว่าปัญหาเรื่องสถาบันการเงินเป็นปัญหารอง ปัญหาหลักคือเงินเฟ้อ ตลาดน่าจะเบาใจลงได้ แต่ถ้าขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ตลาดน่าจะปรับตัวลงต่อ เพราะมองว่าเฟดไม่ได้กังวลประเด็นสถาบันการเงินเลย แต่ถ้าเฟดปรับขึ้นน้อยกว่า 0.25% จะชี้ชัดเลยว่าปัญหาเรื่องสถาบันการเงินเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาจับตา แล้วขึ้นดอกเบี้ยต่อไปไม่ได้ แสดงว่าใกล้เกิดวิกฤต

“พอร์ตลงทุนตลาดที่ต้องเลี่ยงก็คือ หุ้นสหรัฐกับยุโรปไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มไหน และให้ทยอยลงทุนในตลาดหุ้นจีนและเวียดนาม กระจายความเสี่ยงในทองคำ โดยแนะนำลงหุ้นเวียดนาม 10% หุ้นจีน 20% ส่วนทองคำประมาณ 15-20% ตราสารหนี้ 25% และแนะนำลงทุนในตราสารหนี้โลกที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเยอะ ๆ และอีก 25% สุดท้ายเอาไว้ในตลาดเงินหรือ (money market)” ชยนนท์กล่าว

ทั้งหมดนี้ แม้ว่าแต่ละสำนักจะมีสูตรจัดพอร์ตที่อาจจะแตกต่างกันไป แต่ที่ไม่ต่างกันก็คือ ช่วงนี้ควรต้องเลี่ยงลงทุนหุ้นและกองทุนหุ้นสหรัฐ รวมถึงยุโรปไปก่อนนั่นเอง