EIC ปรับเพิ่มจีดีพีปี’66 โต 3.9% อานิสงส์นักท่องเที่ยว 30 ล้านคน

นักท่องเที่ยว สนามบิน
Photo by Romeo GACAD / AFP/file photo

อีไอซีปรับประมาณการเศรษฐกิจปี’66 ขยายตัวดีกว่าคาดจาก 3.4% เป็น 3.9% ชี้เครื่องยนต์หลัก “ท่องเที่ยว” คาดจำนวนนักท่องเที่ยว 30 ล้านคน หนุนรายได้-การบริโภคโต ด้านเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงกลับเข้ากรอบเป้าหมาย 2.7% จับตา 4 ความเสี่ยงด้านต่ำกดดันเศรษฐกิจไทย ระบุเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าที่ 32.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์

วันที่ 17 มีนาคม 2566 ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า อีไอซีได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2566 จากเดิม 3.4% เพิ่มเป็น 3.9% โดยเครื่องยนต์หลักหลักมาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปรับจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคน และมาจากจีน 3.8 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทยกลับมาดีเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด-19

และการบริโภคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงกับการเติบโตจีดีพี มาจากภาคการบริการและท่องเที่ยว ขณะที่รายได้ภาคเกษตรเติบโตได้ดี จากปีก่อนขยายตัว 13% แม้ว่าปีนี้จะลดลงแต่เป็นเพราะฐานที่สูง และอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย เนื่องจากภาครัฐมีการอุดหนุนพลังงานต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟและก๊าชหุงต้ม รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง ส่งผลให้เงินทั่วไปลดลงอยู่ที่ 2.7% แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ระดับสูงที่ระดับ 2.4% ขณะที่การส่งออกเป็นบวกเล็กน้อย 1.2%

ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ดร.ฐิติมา ชูเชิด

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ คือ

  1. ปัญหา Geopolitics รุนแรงขึ้นอาจกระทบ Global supply chain และการส่งออกไทย
  2. นโยบายการเงินโลกตึงตัวแรงขึ้นจากเงินเฟ้อโลกลดลงช้า
  3. หนี้ครัวเรือนกลับมาเร่งตัวส่งผลกดดันการบริโภค
  4. ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐในระยะข้างหน้าได้

รวมถึงความเสี่ยงใหม่จากวิกฤตเสถียรภาพระบบการเงินโลก ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องติดตามใกล้ชิด โอกาสที่จะลุกลามจนเกิดวิกฤตการเงินโลกยังมีน้อย ตราบใดที่ธนาคารกลางให้ความมั่นใจได้ว่าสามารถให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องได้เพียงพอและทันการณ์ ทำให้ความเชื่อมั่นในเสถียรภาพระบบธนาคารทั่วโลกยังเข้มแข็งอยู่

โดยปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลกดดันการบริโภคในระยะต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey ล่าสุดที่ชี้ว่า ปัญหารายได้โตไม่ทันรายจ่ายเพิ่มขึ้นมากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ลูกหนี้หน้าใหม่เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 และมีแนวโน้มจะกู้ยืมมากขึ้นในอนาคตเพื่อใช้ชำระหนี้เก่าเป็นหลัก นอกจากนี้ ลูกหนี้เงินกู้นอกระบบยังน่าเป็นห่วงจากแนวโน้มก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 ถือว่าเป็นประเด็นที่ต้องติดตามเช่นกัน เพราะอาจกระทบการใช้จ่ายภาครัฐได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความเร็วในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของรัฐบาลชุดใหม่

โดยในกรณีฐาน SCB EIC มองว่าการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่กระทบการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2566 เท่าไรนัก เพราะรัฐบาลปัจจุบันได้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนไว้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่าน ๆ มา รวมถึงได้เร่งอนุมัติโครงการก่อสร้างภาครัฐใหม่ คาดว่าอัตราเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้รัฐบาลรักษาการและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่จะต่ำลงบ้าง

และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะประกาศใช้ล่าช้าไม่เกิน 3 เดือน แต่หากมีความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลให้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ประกาศใช้ล่าช้ากว่ากรณีฐาน อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงปีนี้และปีหน้าได้ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ

สำหรับเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่จะปรับแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็งขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะกลับมาอ่อนค่า โดยเฉพาะหลัง Fed เริ่มหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี

“การท่องเที่ยวและการบริโภคจะเป็นฟันเฟืองหลักช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยให้ภาคธุรกิจใน Tourism ecosystem ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนค่อนข้างสูง รวมถึงตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวกลับมาใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 แล้ว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงงานที่กลับเข้ามาทำงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการมากขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานในภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น”