อีไอซี เชื่อแบงก์ล้มสหรัฐ-ยุโรป ไม่ลามถึงไทย

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

อีไอซี ประเมินวิกฤตสถาบันการเงินล้ม ไม่ลุกลามกระทบไทย เหตุ “ฐานะการเงินแกร่ง-เงินกองทุนสูง-ไม่ทำธุรกิจเสี่ยง” ชี้ทางการสหรัฐ-ยุโรป” แก้ปัญหาไว มอง เฟด-กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ ปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ

วันที่ 17 มีนาคม 2566 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ในสหรัฐ และธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) ในยุโรปนั้น

มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเสี่ยงแบบเฉพาะเจาะจง (Specifc Risk) ของภาคการเงิน ซึ่งเบื้องต้นมองว่าในท้ายที่สุดความเสี่ยงที่จะลุกลามจนเกิดวิกฤตการเงินโลกเหมือนในปี 2551 ยังคงมีน้อย และสิ่งที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นกับไทยคงไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ธนาคารไม่ได้นิ่งนอนใจและยังคงติดตามสถานการณ์อยู่

ทั้งนี้ สาเหตุที่มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นกับไทย จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการคือ 1.ฐานะเงินกองทุนของไทยอยู่ในระดับสูง 2.ธนาคารไทยไม่ได้ทำธุรกิจในลักษณะดียวกับสถาบันการเงินที่มีปัญหา และ 3.การลุกลามจะไม่เกิดขึ้น เพราะ Capital ของไทยถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับยุโรป

อย่างไรก็ดี หากดูภายใต้ปัจจัยที่จะส่งผลให้สถานการณ์เกิดการลุกลามได้นั้น จะต้องเกิดขึ้น 2 ข้อคือ

  1. เกิดภาวะ Bank Run ต่อเนื่อง
  2. ความช่วยเหลือเพียงพอหรือไม่ ซึ่งหากมองไปข้างหน้า So Far ปัจจุบันถือว่าออกมาค่อนข้างเร็ว

โดยหากทั้ง 2 ข้อเกิดขึ้นจะส่งผลให้สถานการณ์ลุกลามต่อได้ และหากเกิดการลุกลามของสถานการณ์จะเห็นผลกระทบ 4 ช่องทางด้วยคือ

  1. เงินทุนไหลออกรุนแรงจากภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk off) เทขายสินทรัพย์และไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ราคาสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น high yield bond ลดลงรุนแรง
  2. นโยบายการเงินมีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยจะเห็นธนาคารกลางบางประเทศเร่งขึ้นดอกเบี้ย บางประเทศลดดอกเบี้ย ซึ่งปัจจัยนี้จะสร้างความผันผวน และไทยจะทนได้หรือไม่
  3. ภาวะการเงินตึงตัวขึ้น โดยเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อในประเทศมีความเข้มงวดมากขึ้นตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น การขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินโลก ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตของสินเชื่อและการลงทุน
  4. การส่งออกหดตัวตามอุปสงค์การนำเข้า โดยเฉพาะสหรัฐและสหภาพยุโรปที่จะลดลงตามภาวะการเงินตึงตัวและเศรษฐกิจถดถอย

“มองว่าปัญหาโดมิโนจะไม่เกิดขึ้นภายใต้ดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะสะท้อนได้จากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% แสดงว่ามีความมั่นใจ และมองว่าการเปลี่ยนนโยบายการเงินหรือไดเร็กชั่นก็อาจจะยุ่งยาก เพราะวันนี้จะเห็นว่าเขาสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว แต่แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก และตอนนี้ตลาดก็จับจ้องว่าจะมีธนาคารไหนที่มีความเปราะบาง และลดน้ำหนักลง

ดังนั้น ถามว่าในระยะสั้นอาจจะมีความผันผวนได้ แต่เชื่อว่าประเทศไทยสามารถผ่านไปได้ เพราะตั้งแต่วิกฤตซับไพร์มที่ค่อนข้างใหญ่สถาบันการเงินไทยก็รอด เพราะเรามีบทเรียนตั้งแต่ปี 40 หากมีปัญหาอีกก็น่าจะผ่านได้”


ดังนั้น ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง โดยจะปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ต่อปี เช่นเดียวกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง ไปอยู่ที่ระดับ 2.00% ต่อปี โดยในรอบการประชุมนี้ยังคงปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนตามแรงส่งภาคการท่องเที่ยวและบริการ จึงเป็นการทยอยปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ เพราะหากไปปรับในระยะข้างหน้าอาจจะเป็นการกระชากเกินไป