อาคม รมว.คลัง ชี้ไทยรอดแบล็กลิสต์-แลกข้อมูลภาษีเริ่มปีนี้

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ-คลัง

คลังโล่งอก ครม.ไฟเขียว พ.ร.ก.แลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศของกรมสรรพากรแล้ว รอดถูกแบล็กลิสต์ตามข้อตกลง OECD หนุนไล่ล่าตามเก็บภาษีคนไทยที่ซุกรายได้ต่างประเทศ เดินหน้าแลกเปลี่ยนข้อมูลปีนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. มีมติอนุมัติออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญของกรมสรรพากร จากที่ก่อนหน้านี้เสนอเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เนื่องจากเกรงว่า จะบังคับใช้ไม่ทันปีนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีดำ

“ครม.เห็นชอบออกเป็น พ.ร.ก.แล้ว ก็จะแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ทันในปีนี้ ไม่ต้องถูกแบล็กลิสต์” นายอาคมกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้องรีบดำเนินการออกกฎหมายเร่งด่วน เพราะหากไม่สามารถออกกฎหมายได้ก่อนเดือน เม.ย. 2566 นี้ ประเทศไทยจะถูกแบล็กลิสต์ ซึ่งจะกระทบกับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ผ่าน ครม.ไปแล้ว แต่ปัจจุบันเพิ่งผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรกเท่านั้น

“ถ้าเป็น พ.ร.บ. รัฐบาลยุบสภา ร่างกฎหมายก็จะตกไป ต้องรอรัฐบาลใหม่มายืนยัน ก็จะไม่ทันตามข้อตกลงที่ไปลงนามไว้กับกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา)” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ เป็นการขยายฐานภาษีทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพให้คนเข้าระบบมากขึ้น เพราะการหลบเลี่ยงภาษีจะยากขึ้น และเม็ดเงินภาษีก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น ต่อไปคนไทยที่มีบัญชี มีทรัพย์สินอยู่ต่างประเทศ มีรายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ข้อมูลจะถูกส่งแบบอัตโนมัติ ซึ่งประเทศ หรือเกาะต่าง ๆ ที่เป็น tax haven ทั้งบริติชเวอร์จิน, เคย์แมน ก็เข้ามาเป็นสมาชิกเช่นเดียวกัน

โดยเมื่อร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจ สามารถสั่งให้บุคคลรวบรวมและนำส่งข้อมูลของตนเอง หรือของผู้อื่นที่อยู่ในการครอบครองหรือการควบคุมของตน ตามที่ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญา โดยไม่คำนึงว่าข้อมูลนั้นจะเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ก็ตาม และให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าว ตามที่ได้รับคำร้องขอตามมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอจากคู่สัญญาตามอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (DTA) และความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (MAC) ได้

นอกจากนี้ จะทำให้มีการ “แลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ” ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมรับฝากเงิน ผู้ประกอบกิจการรับฝากสินทรัพย์ทางการเงิน ผู้ประกอบกิจการทำธุรกรรมหรือดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุน ต้องมีการรายงานข้อมูลการเงินระหว่างกันตามกรอบข้อตกลง