ชงออก พ.ร.ก.ตามรีดภาษี สกัดซุก “ทรัพย์สิน” ในต่างประเทศ

ภาษี tax haven
ภาพจาก https://www.pexels.com/

คลังเปลี่ยนแผนชง ครม. ไฟเขียว พ.ร.ก. “แลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีสรรพากร” สกัดหลบเลี่ยง-ซุกทรัพย์สินต่างประเทศ หวั่นรัฐบาลยุบสภากระทบกฎหมายล่าช้า ไทยส่อถูกแบล็กลิสต์จากทั่วโลกเป็น “ประเทศไม่มีความโปร่งใส-จัดเก็บภาษีไม่เป็นธรรม” ขีดเส้นต้องคลอดภายใน มิ.ย. 66

เปลี่ยนแผนดันออก พ.ร.ก.

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งเป็นกฎหมายของกรมสรรพากร ที่ต้องรีบดำเนินการออกกฎหมายโดยเร่งด่วนเพราะหากไม่สามารถออกกฎหมายได้ก่อนเดือน ก.ย. 2566 นี้ ประเทศไทยจะถูกแบล็กลิสต์ ซึ่งจะกระทบกับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

“เมื่อกฎหมายผ่าน การแลกเปลี่ยนข้อมูลจะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย. 2566 ซึ่งไม่มีปัญหา เพราะมีการเตรียมพร้อมกันไว้อยู่แล้ว ซึ่งข้อมูลที่จะแลกเปลี่ยน คือ ข้อมูลเงินฝากของคนจากประเทศที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับไทย ซึ่งมีการเปิดบัญชีอยู่ในประเทศไทย โดยสถาบันการเงินจะต้องส่งข้อมูลมาให้กรมสรรพากร และกรมสรรพากรดำเนินการแลกเปลี่ยนตามการร้องขอต่อไป”

ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่าน ครม.ไปแล้ว มีการพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร โดยผ่านวาระแรกไปแล้ว อยู่ในขั้นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย จากนั้นต้องผ่านสภาวาระ 2 วาระ 3 อีก แล้วจึงไปวุฒิสภา ดังนั้นหากรัฐบาลยุบสภาในเดือน มี.ค.นี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็จะตกไป กฎหมายฉบับนี้ก็จะออกไม่ทัน แล้วประเทศไทยจะถูกแบล็กลิสต์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกเป็น พ.ร.ก.แทน

เล็งขยายฐานภาษีทั่วโลก

แหล่งข่าวระบุว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่พร้อมจะร่วมมือกับ OECD ในการป้องกันการหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงภาษี และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีเป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติตามที่ Global Forum กำหนดให้ประเทศไทยต้องดำเนินการภายในปี 2566

โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูล จะทำให้ประเทศไทยได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบติดตามภาษีของประเทศไทยมากขึ้น ต่อไปคนไทยมีบัญชี มีทรัพย์สินอยู่ต่างประเทศ รายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประทศ ข้อมูลจะถูกส่งแบบอัตโนมัติ

“ถ้าไทยไม่ทำ หรือออกกฎหมายไม่ทัน จะมีผลกระทบทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และตามพันธกรณีของประเทศไทย รวมถึงไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินอัตโนมัติได้ตามกรอบความตกลง Global Forum ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่ไม่มีความโปร่งใส และความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดเก็บภาษี” แหล่งข่าวกล่าว

อธิบดีสรรพากรลุ้นกฎหมาย

ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ตอนนี้ยังลุ้นอยู่ให้กฎหมายดังกล่าวคลอดออกมาได้ทัน โดยขณะนี้ในส่วนของร่าง พ.ร.บ. ผ่านขั้นตอนกรรมาธิการแล้ว รอเข้าสภาวาระ 2 วาระ 3

ก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมสรรพากรให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ เป็นการขยายฐานภาษีทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพให้คนเข้าระบบ เพราะจะอยู่นอกระบบยากขึ้น การหลบเลี่ยงภาษีจะยากขึ้น และเม็ดเงินภาษีก็จะเพิ่มขึ้น

“ต่อไปคนไทยมีบัญชี มีทรัพย์สินอยู่ต่างประเทศ รายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ข้อมูลจะถูกส่งแบบอัตโนมัติ ส่วนคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย เราก็ต้องส่งข้อมูลกลับไปด้วย และที่น่าสนใจก็คือ ประเทศหรือเกาะต่าง ๆ ที่เป็น tax haven ทั้งบริติชเวอร์จิน, เคย์แมน พวกนี้ก็เข้ามาเป็นสมาชิกหมดแล้ว เพราะฉะนั้นข้อมูลต่อไปนี้สรรพากรจะเห็นหมด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ที่ผ่านมาสรรพากรไม่สามารถตรวจสอบได้เลย ก็จะทำให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งธุรกิจหรือคนที่เสียภาษีถูกต้องแล้วก็ไม่มีผลกระทบ” นายลวรณกล่าว

รายงานจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำหรับปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565-ก.ย. 2566) ในช่วง 3 เดือนแรก กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้แล้ว 446,721 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 35,044 ล้านบาท หรือเก็บได้เพิ่มขึ้น 8.5% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 40,777 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 10% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

แบงก์ต้องส่งข้อมูลอัตโนมัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากร่างพระราชกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจ สามารถสั่งให้บุคคลรวบรวมและนำส่งข้อมูลของตนเอง หรือของผู้อื่นที่อยู่ในการครอบครองหรือการควบคุมของตน ตามที่ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญา โดยไม่คำนึงว่าข้อมูลนั้นจะเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ก็ตาม และให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าว ตามที่ได้รับคำร้องขอตามมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอจากคู่สัญญาตามอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (DTA) และความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (MAC)

นอกจากนี้จะทำให้มีการ “แลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ” ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมรับฝากเงิน ผู้ประกอบกิจการรับฝากสินทรัพย์ทางการเงิน ผู้ประกอบกิจการทำธุรกรรมหรือดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุน ต้องมีการรายงานข้อมูลการเงินระหว่างกันตามกรอบข้อตกลง