บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กรมบัญชีกลาง โต้ข่าวปลอมกุโทษว่อนโซเชียล

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ข่าวปลอม

กรมบัญชีกลาง โต้ข่าวปลอมโซเชียลเผยแพร่ “โทษของการมีบัตรประชารัฐ” ยัน “ไม่เป็นความจริง”

วันที่ 21 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกรมบัญชีกลางได้ชี้แจง กรณีมีการแชร์ข้อความเกี่ยวกับโทษของการมีบัตรประชารัฐผ่านสื่อโซเชียลมีเดียว่า “ไม่เป็นความจริง” โดยข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม

ชี้แจงข่าว บัตรคนจน

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ 14.59 ล้านราย

ทั้งนี้ สำหรับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ที่จะเริ่มใช้สิทธิงวดแรกในวันที่ 1 เม.ย. 2566 นี้ ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า มีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั้งสิ้น 14.59 ล้านราย จากจำนวนผู้ลงทะเบียนสมบูรณ์กว่า 19 ล้านราย

ล่าสุด ณ วันที่ 20 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จำนวนผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัที่ดำเนินการยืนยันตัวตนสำเร็จแล้ว มีทั้งสิ้น 11.12 ล้านราย ซึ่งหากยืนยันตัวตนสำเร็จในช่วง วันที่ 1-26 มี.ค. 2566 ก็จะเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2566 เป็นต้นไป

เช็กวันเริ่มใช้สิทธิสวัสดิการรอบใหม่

ส่วนผู้ยืนยันตัวตนสำเร็จ หลังวันที่ 26 มีนาคม 2566 ไปแล้ว จะได้ใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ตามวันที่กระทรวงการคลังกำหนด ดังนี้

1.ยืนยันตัวตนเสร็จในช่วงวันที่ 27 มี.ค.-26 เม.ย. 2566

เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป (ได้รับสิทธิย้อนหลังไม่เกิน 3 เดือน นับจากเดือนแรกที่เริ่มใช้สิทธิได้ เฉพาะวงเงินสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค)

2.ยืนยันตัวตนเสร็จในช่วงวันที่ 27 เม.ย.-26 พ.ย. 2566

เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป (ได้รับสิทธิย้อนหลังไม่เกิน 3 เดือน นับจากเดือนแรกที่เริ่มใช้สิทธิได้ เฉพาะวงเงินสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค)

3.ยืนยันตัวตนเสร็จในช่วงวันที่ 27 พ.ค.-26 มิ.ย. 2566

เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป (ได้รับสิทธิย้อนหลังไม่เกิน 3 เดือน นับจากเดือนแรกที่เริ่มใช้สิทธิได้ เฉพาะวงเงินสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค)

4.ยืนยันตัวตนเสร็จในช่วงวันที่ 27 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป

เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป (แต่จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง โดยจะได้รับสิทธิเฉพาะเดือนที่กระทรวงการคลัง ดำเนินการตั้งวงเงินให้)

ยืนยันตัวตนแล้วต้องผูกบัญชีพร้อมเพย์ให้ครบ

ทั้งนี้ การยืนยันตัวตนที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ผู้ผ่านเกณฑ์จะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) ในการยืนยันตัวตนตามวันและเวลาทำการของแต่ละธนาคาร และเมื่อยืนยันตัวตนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ผ่านเกณฑ์ต้องตรวจสอบสถานะการยืนยันตัวตนของตนเองผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือhttps://welfare.mof.go.th ในวันถัดไป

หรือติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ Call Center โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วันจันทร์-วันศุกร์ ตามเวลาทำการของแต่ละหน่วยงาน

นอกจากนี้ ผู้ผ่านเกณฑ์ต้องดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนกับธนาคารใดก็ได้ เนื่องจากการผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้ล่วงหน้าจะทำให้ผู้ได้รับสิทธิโครงการ สะดวกในการรับสิทธิสวัสดิการในกรณีที่ภาครัฐมีการให้สวัสดิการเป็นเงินโอนเข้าบัญชีในอนาคต

ผู้ถือบัตรรับสิทธิคนละ 1,498.33 บาท/เดือน

ทั้งนี้ สำหรับสวัสดิการที่จะได้รับ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีมติเห็นชอบไว้ ประกอบด้วย

1.วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดจำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน

2.วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน (เดิมจะได้ 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน แต่ ครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. เพิ่มให้อีก 20 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. 2566)

3.วงเงินรวมค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะจำนวน 750 บาทต่อคนต่อเดือน โดยสามารถใช้โดยสารได้กับระบบขนส่ง 8 ประเภท ได้แก่

  • รถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
  • รถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
  • รถไฟฟ้า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) (Bangkok Mass Transit System : BTS) รถไฟฟ้ามหานคร (Metropolitan Rapid Transit : MRT) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด
  • รถไฟ
  • รถเอกชนร่วม ขสมก. รถเอกชน และส่วนราชการกรุงเทพมหานคร
    รถเอกชนร่วม บขส. และรถเอกชน
  • รถสองแถวรับจ้าง
  • เรือโดยสารสาธารณะ โดยไม่จำกัดวงเงินตามประเภทรถ

4.มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า อุดหนุนค่าไฟฟ้าจำนวน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีบัตร) ที่ได้รับสิทธิจะเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด

5.มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา อุดหนุนค่าน้ำประปาจำนวน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ผู้มีบัตรที่ได้รับสิทธิ ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท และจะต้องชำระส่วนที่เกิน 100 บาท ด้วยตนเอง แต่หากผู้มีบัตรที่ได้รับสิทธิมีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรที่ได้รับสิทธิจะเป็นผู้รับภาระค่าน้ำประปาทั้งหมด

เบ็ดเสร็จแล้ว ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่นี้ จะได้รับเงินสูงสุด ประมาณ 1,498.33 บาทต่อคนต่อเดือน