เช็กสิทธิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ welfare.mof.go.th ผ่าน-ไม่ผ่าน ที่นี่

เช็คสิทธิ์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2566 รอบใหม่
อัพเดต 1 มีนาคม 2666

ตรวจสอบสิทธิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2566 เว็บไซต์ welfare.mof.go.th เช็กสิทธิผ่าน-ไม่ผ่านที่ช่องทางเว็บไซต์ 

หลังจากคณะรัฐมนตรี อนุมัติโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 วงเงินกว่า 5,336 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ครั้งล่าสุด ซึ่งเปิดลงทะเบียนมาตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

และขณะนี้การตรวจสอบคุณสมบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคุณสมบัติรายบุคคลและคุณสมบัติสมาชิกในครอบครัวดำเนินการเสร็จสิ้น และจะประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติให้ทราบ ภายในวันที่ 1 มีนาคม นี้

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ ก่อนจะเริ่มใช้จริง ภายในเดือนมีนาคม 2566


สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ตรวจสอบผลอย่างไร ?

ระยะเวลาโครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ภาพจาก เว็บไซต์โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565

เดือนมีนาคม 2566

หลังจากตรวจสอบความสัมพันธ์ของครอบครัวเรียบร้อยแล้ว กระทรวงการคลังจะตรวจสอบและพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการหรือไม่ ทั้งเกณฑ์บุคคลและเกณฑ์ครอบครัว

สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 66 ผ่าน-ไม่ผ่าน ทางออนไลน์ มีขั้นตอนดังนี้

  • เข้าไปที่เว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th
  • คลิกเมนู “ตรวจสอบสถานการณ์ลงทะเบียน”
  • กรอก “เลขที่บัตรประชาชนจำนวน 13 หลัก” และระบุ “วัน เดือน และ พ.ศ. ที่เกิด”
  • คลิก ตรวจสอบข้อมูล
  • ระบบแสดงสถานะการลงทะเบียน/ตรวจสอบ

ตรวจสอบสถานะการลงทะเบียน

หากคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ให้รอการยืนยันตัวตน (KYC) ด้วยบัตรประชาชนแบบ Smart Card ที่สาขาของ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยกระทรวงการคลัง จะมีการประชาสัมพันธ์ผู้ได้รับสิทธิรับทราบอีกครั้ง

ขอให้ผู้ลงทะเบียนกลุ่มที่มีสถานะการลงทะเบียนสมบูรณ์ ติดตามกำหนดการประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติที่ชัดเจนจากกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่งอย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์แก่ผู้ลงทะเบียน

แต่หากคุณสมบัติไม่ผ่าน สามารถยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านทางเว็บไซต์โครงการ และติดต่อหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติที่ไม่ผ่าน เพื่อขอแก้ไขปรับปรุงข้อมูลโดยตรง โดยกระทรวงการคลัง จะแจ้งกำหนดการและวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการอุทธรณ์ผลการตรวจสอบคุณสมบัติให้ทราบต่อไป

สำหรับการอุทธรณ์ สามารถอุทธรณ์การตรวจสอบสิทธิได้ โดยใช้ระยะเวลาตรวจสอบ 15-30 วัน และหากอุทธรณ์แล้วผ่าน จะยังคงได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ย้อนหลังด้วย


เริ่มใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อไร ?

สำหรับการเริ่มใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การเริ่มใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ จะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐรอบปี 2565 จะประกาศผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติภายในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2566 นี้ โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะให้เริ่มมีการให้สิทธิผ่านบัตรสวัสดิการ ซึ่งจะเปลี่ยนไปใช้บัตรประชาชนแทนบัตรแบบเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป


บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จ่ายค่าอะไรบ้าง ?

สำหรับรายละเอียดการจ่ายเงิน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2566) เป็นดังนี้

ทุกวันที่ 1 ของเดือน (ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้ และไม่สะสมในเดือนถัดไป)

  • วงเงินซื้อสินค้า 200/300 บาทต่อเดือน โดยมีรายละเอียด คือ
    วงเงิน 200 บาท/เดือน สำหรับผู้ที่มีรายได้เกิน 30,000 บาท
    วงเงิน 300 บาท/เดือน สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท
  • วงเงินซื้อสินค้า ตามมาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษ 200 บาทต่อเดือน (เฉพาะเดือนมกราคม 2566)
  • ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 100 บาทต่อ 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 66)
  • ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประกอบด้วย ค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อเดือน, ค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อเดือน และค่าโดยสารรถ ขสมก./รถไฟฟ้า (MRT/BTS/ARL) 500 บาทต่อเดือน (สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อาศัยอยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล)

ทุกวันที่ 18 ของเดือน (สามารถถอนเป็นเงินสดได้ และสะสมในเดือนถัดไปได้)

  • เงินชดเชยค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน (สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้ลงทะเบียนกับ กฟน. กฟภ. และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 315 บาทต่อเดือน)
  • เงินชดเชยตามจำนวนเงินที่ชำระค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน (สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ได้ลงทะเบียนกับ กปน. กปภ. ที่ใช้น้ำประปาไม่เกิน 315 บาทต่อเดือน จะได้รับเงินคืนค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาท (ที่ได้ชำระเงินแล้ว) ส่วนที่เกินจาก 100 บาท ผู้ถือบัตรเป็นผู้ชำระเอง)

ทุกวันที่ 22 ของเดือน (สามารถถอนเป็นเงินสดได้ และสะสมในเดือนถัดไปได้)

  • เงินเพิ่มเบี้ยความพิการ 200 บาทต่อเดือน (สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและได้รับเงินเบี้ยความพิการ)

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คืออะไร ?

โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2560 โดยให้ความช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาทิ

  • วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับผู้มีรายได้ไม่เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้รับ 300 บาทต่อเดือน และผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้รับ 200 บาทต่อเดือน
  • วงเงินสำหรับค่าโดยสารเดินทาง
  • วงเงินสำหรับค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้แก่ ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา เป็นต้น กว่า 1,500 บาทต่อเดือน

ส่วนการลงทะเบียนโครงการฯ ในรอบใหม่นี้ เนื่องจากที่ผ่านมายังมีกลุ่มตกหล่นที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงการและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปัจจุบัน ไม่สามารถสะท้อนข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องมีการลงทะเบียนรอบใหม่ในปี 2565 เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการระบุตัวผู้ มีรายได้น้อย และทำให้ฐานข้อมูลของประชาชนผู้มีรายได้น้อยเป็นปัจจุบัน


บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใครลงทะเบียนได้ ?

คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) รอบใหม่ มีดังนี้

  1. เป็นบุคคลสัญชาติไทย
  2. มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  3. ไม่เป็นบุคคลที่ไม่เข้าข่ายได้สิทธิ ได้แก่ ภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ถูกกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้ได้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้ได้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
  4. รายได้บุคคลต่อปี ไม่เกิน 100,000 บาท และรายได้ครอบครัว เฉลี่ยต่อคนต่อปี ไม่เกิน 100,000 บาท
  5. ทรัพย์สินทางการเงิน (เงินฝาก สลาก พันธบัตร) รายบุคคล ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท และครอบครัว เฉลี่ยต่อคนต่อปี ไม่เกิน 100,000 บาท
  6. ไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ที่กำหนด (วงเงินสินเชื่อบ้าน ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อรถ ไม่เกิน 1 ล้านบาท)
  7. ไม่มีบัตรเครดิต
  8. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข

กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว ต้องมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามเกณฑ์ ดังนี้

  1. ห้องชุด ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
  2. หากที่ดินที่ถือครอง แยกจากที่อยู่อาศัย
    กรณีใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ต้องมีไม่เกิน 10 ไร่
    กรณีไม่ได้ใข้ประโยชน์ทางการเกษตร ต้องมีไม่เกิน 1 ไร่
  3. หากที่ดินที่ถือครอง เป็นลักษณะที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
    ขนาดบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีขนาดไม่เกิน 25 ตารางวา
    ขนาดที่ดินกรณีใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ต้องมีไม่เกิน 10 ไร่ หรือกรณีไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ต้องมีไม่เกิน 1 ไร่

ทั้งนี้ จะต้องมีขนาดพื้นที่รวมกันทั้งหมด กรณีเพื่อการเกษตร ไม่เกิน 10 ไร่ และไม่ใช่เพื่อการเกษตร ไม่เกิน 1 ไร่

กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว ต้องมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามเกณฑ์ ดังนี้

  1. ห้องชุด
    กรณีเป็นเจ้าของแยกจากกัน ต้องมีขนาดไม่เกิน 35 ตารางเมตร ต่อคน
    กรณีเป็นเจ้าของร่วมกัน ต้องมีขนาดไม่เกิน 35 ตารางเมตร
  2. หากที่ดินที่ถือครอง แยกจากที่อยู่อาศัย
    กรณีใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ต้องมีไม่เกิน 20 ไร่
    กรณีไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ต้องมีไม่เกิน 2 ไร่
  3. หากที่ดินที่ถือครอง เป็นลักษณะที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
    ขนาดบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว
    กรณีเป็นเจ้าของแยกจากกัน ต้องมีขนาดไม่เกิน 25 ตารางวา ต่อคน
    กรณีเป็นเจ้าของร่วมกัน ต้องมีขนาดไม่เกิน 25 ตารางวา
    ขนาดที่ดินกรณีใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ต้องมีไม่เกิน 20 ไร่ หรือกรณีไม่ได้ใข้ประโยชน์ทางการเกษตร ต้องมีไม่เกิน 2 ไร่

ทั้งนี้ จะต้องมีขนาดพื้นที่รวมกันทั้งหมด กรณีเพื่อการเกษตร ไม่เกิน 20 ไร่ และไม่ใช่เพื่อการเกษตร ไม่เกิน 2 ไร่


บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ ลงทะเบียนผ่านกี่คน ?

โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) รอบใหม่ ซึ่งเปิดลงทะเบียนมาต้้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2565 และมีการตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยยอดผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลและมีสถานะแสดงข้อความว่า “สถานะการลงทะเบียนสมบูรณ์” ที่ประกาศไป 3 รอบ มีจำนวน 19,647,241 ราย จากจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 22,295,183 ราย

ขณะนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคุณสมบัติรายบุคคลและคุณสมบัติสมาชิกในครอบครัว และกระทรวงการคลัง จะทำการประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติให้ทราบ


มีข้อสงสัยการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต้องติดต่ออย่างไร ?

ผู้ที่มีข้อสงสัยการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่

กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

โทร. 09-4858-9794 (จันทร์-ศุกร์ 08.30-16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3502 3503 3506 3518 3536 3542 (จันทร์-ศุกร์ 08.30-16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ)

โทร. 08-5842-7102, 08-5842-7103, 08-5842-7104, 08-5842-7105, 08-5842-7106, 08-5842-7107, 08-5842-7108 (จันทร์-ศุกร์ 08.30-16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ)

ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

โทร. 0-2109-2345 (จันทร์-ศุกร์ 08.30-17.30 น. เว้นวันหยุดราชการ)

และสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการได้ที่ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th