กรุงศรีประเมิน กนง. ครั้งต่อไปมีโอกาส “คงดอกเบี้ย”

เงินบาท

กรุงศรีเผย กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ขณะที่รอบหน้ามีโอกาสคงดอกเบี้ยรับมือความไม่แน่นอนที่มีสูง

วันที่ 29 มีนาคม 2566 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี สู่ระดับ 1.75% ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565

โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น คาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กนง.ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงเล็กน้อย อยู่ที่ 3.6% และ 3.8% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ส่วนภาคการส่งออกคาดว่าจะหดตัวลง 0.7% ในปีนี้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแรงส่งที่ดีให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบทุกสัญชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สูงกว่าที่ได้มีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้มีการปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ขึ้นเป็น 28 ล้านคน และ 35 ล้านคนในปี 2567

ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง ปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.9% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.4%

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ราว 34.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดย กนง.ย้ำว่า ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน โดยมีปัจจัยจากการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป และแนวโน้มเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (Advanced Economies : AEs)

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ขณะที่ กนง.ระบุว่ายังคงมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ เรื่องของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยที่อาจจะอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง อาจทำให้ กนง.คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75%

อย่างไรก็ดี ท่าทีและสัญญาณในวันนี้บ่งชี้ว่า กนง.เปิดโอกาสไว้สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้าได้เช่นกัน หากสถานการณ์ยังเอื้อให้ปรับนโยบายต่ออีกเล็กน้อย