แข่งยื่นขายหุ้น IPO พุ่งเท่าตัว หนีเกณฑ์ใหม่-กสิกรปั้น 5 ดีลใหญ่

IPO

ธุรกิจแห่ยื่นไฟลิ่งขายหุ้นไอพีโอทะลักเท่าตัว ไตรมาสแรกกว่า 20 บริษัท ตลาดหลักทรัพย์ฯชี้ฤดูกาลไอพีไอไตรมาส 3-4 เข้าคิวแน่น ชี้ปัจจัยสำคัญเงื่อนไขผ่อนปรนมาตรฐานบัญชีบริษัทมหาชนสิ้นสุดปีนี้ พร้อมชงบอร์ด ตลท.-ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์หนุน 10 อุตฯเป้าหมายเข้าตลาดหุ้น กสิกรฯมองเทรนด์ IPO คึกคักรับเศรษฐกิจไทยฟื้น บิ๊กคอร์ปแห่ spin-off ส่งลูกเข้าระดมทุน ฟินันซ่าดัน MGC ยักษ์ค้าปลีกยานยนต์เข้าซื้อขายไตรมาส 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ภาวะตลาดหุ้นไทยไตรมาสแรกปี 2566 จะผันผวนจากปัจจัยภายนอกเข้ามารบกวน แต่ก็เห็นแนวโน้มธุรกิจที่ดาหน้าเตรียมเข้าระดมทุน เสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) กันอย่างคึกคัก โดยข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2566 พบว่ามีบริษัทเสนอขายหุ้นไอพีโอไปแล้ว 12 ราย มูลค่าระดมทุน 8,567 ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาไอพีโอ 43,430 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีหุ้นไอพีโอแค่ 5 บริษัท ขณะที่ปี 2565 ที่ผ่านมา มีบริษัทขายหุ้นไอพีโอทั้งสิ้น 42 บริษัท (SET 24 บริษัท และ mai 18 บริษัท)

สำหรับ 12 บริษัทที่ขายหุ้นไอพีโอในไตรมาสแรก พบว่าเป็นบริษัทขนาดเล็กที่เข้าจดทะเบียนใน mai จำนวน 9 บริษัท และจดทะเบียนใน SET จำนวน 3 บริษัท โดยพบว่าราคาปิดการซื้อขายวันแรกของหุ้นไอพีโอส่วนใหญ่อยู่เหนือจอง มีเพียง บมจ.พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช (PQS) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลัง ที่ราคาหุ้นปรับลดลง 4.17% ต่ำกว่าราคาจองซื้อไอพีโอที่ 6 บาท

บริษัทยื่นไฟลิ่งทะลักเท่าตัว

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย หรือการเสนอขายหุ้นไอพีโอในปี 2566 ในภาพรวมมีอยู่ในคิวค่อนข้างมาก จำนวนบริษัทที่ยื่นไฟลิ่งมาแล้วมากกว่าปีที่แล้วเกือบเท่าตัว โดยฤดูกาลไอพีไอจะเข้ามาค่อนข้างหนาแน่นในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี แต่ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้เชื่อว่ามีบริษัททยอยเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งไตรมาสแรกก็มากกว่าปีอื่น ๆ แล้ว

ปัจจุบันบริษัทได้รับอนุญาตแบบคำขอให้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่แล้ว (approved) จำนวน 10 บริษัท และบริษัทยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว อีกจำนวน 10 บริษัท

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ปีนี้มีบริษัทเสนอขายหุ้นไอพีโอปีนี้คึกคักมาก มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ธุรกิจมีความต้องการใช้เงิน 2.การจัดเตรียมข้อมูลที่ค่อนข้างพร้อมของบริษัทต่าง ๆ และ 3.ข้อกำหนดการยื่นไฟลิ่ง ที่ให้ใช้งบการเงินตามมาตรฐานบัญชีของบริษัทมหาชน (Publicly Accountable Entities : PAE) “ปีเดียว” เป็นปีสุดท้าย (ปี 2566) ซึ่งเกณฑ์นี้ สำนักงาน ก.ล.ต.แจ้งให้เวลาในการเตรียมตัวมา 5 ปีแล้ว โดยจะเปลี่ยนเกณฑ์ไปใช้งบการเงินตามมาตรฐานบัญชี PAE 3 ปีย้อนหลัง มีผลบังคับใช้ในปี 2567

Advertisment

สำหรับปัจจัยภาวะความผันผวนของตลาดหุ้นไทย จริง ๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดอยู่แล้ว ทั้งเรื่องโควิด อัตราเงินเฟ้อสูง ภาวะสงคราม สินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้นราคา สิ่งที่บริษัทจดทะเบียนทำได้คือต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งจะเห็นว่าช่วงโควิดปรับตัวได้ค่อนข้างดี มีการปรับลดต้นทุน การขยายตลาดในรูปแบบดิจิทัล และเมื่อโควิดเริ่มซา จะเห็นว่าอุตสาหกรรมที่โดนกระทบหนักก็กลับมาได้ค่อนข้างรวดเร็ว ทั้งในแง่ความสามารถในการเติบโตของยอดขายและการทำกำไร แต่ผลจากภาวะสงครามก็ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย บางไตรมาสต้นทุนพุ่งแรงกว่ายอดขายที่เพิ่ม 20-30% ตรงนี้ส่งผลให้บริษัทที่มีศักยภาพเตรียมความพร้อมข้อมูลและพยายามหาแหล่งเงินกัน

ชงบอร์ดปรับเกณฑ์ดึง 10 อุตฯ

นายแมนพงศ์กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าแผนผลักดันบริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประกอบด้วย 1.ยานยนต์สมัยใหม่ 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยี 5.การแปรรูปอาหาร 6.หุ่นยนต์ 7.การบินและโลจิสติกส์ 8.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.ดิจิทัล และ 10.การแพทย์และสุขภาพครบวงจร เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุน

Advertisment

ตอนนี้อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในการปรับปรุงเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้มีความผ่อนคลายและตอบโจทย์มากขึ้น โดยมุ่งพิจารณาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่ยอดขาย ลักษณะอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเกณฑ์กำไร โดยกำไรอาจจะเปลี่ยนมาเป็นดูไซซ์ของมาร์เก็ตแคป ประกอบควบคู่ไปกับยอดขายว่ามีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน หรืออยู่ในอุตสาหกรรมที่อยากสนับสนุนตามนโยบายหรือไม่ด้วย

โดยเพิ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อเดือน ม.ค. 2566 ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอที่ประชุมบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯและบอร์ดสำนักงาน ก.ล.ต. และบอร์ดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในไตรมาส 2/2566

กสิกรฯเข็น 5 ดีลในมือ IPO ปีนี้

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้มีบริษัทสนใจยื่นขายหุ้นไอพีโอเข้ามามาก เนื่องจากเป็นปีสุดท้ายที่สำนักงาน ก.ล.ต.ให้ใช้งบการเงินตามมาตรฐานบัญชีของบริษัทมหาชน “ปีเดียว” และปี 2567 เป็นต้นไป บริษัทที่จะยื่นขอจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้น จะต้องใช้งบการเงินตามมาตรฐาน PAE 3 ปีย้อนหลัง ดังนั้นถ้างบฯไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดก็ต้องเสียเวลาปรับเปลี่ยนงบฯ

ซึ่งก็ทำให้แผนเข้าตลาดหุ้นต้องใช้เวลานานขึ้น ดังนั้นบริษัทไหนพร้อมก็จะรีบยื่นขายหุ้นไอพีโอกันในปีนี้เลย ทำให้จะเห็นหุ้น IPO จำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ดีลในมือที่เตรียมจะยื่นไฟลิ่งมีอยู่ 4-5 บริษัท ตามแผนจะดำเนินการนำทุกบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายวันแรกภายในปีนี้ แต่ยังเปิดเผยรายชื่อไม่ได้

ส่วนปัจจัยภาวะตลาดหุ้นไทยถือว่าไม่ได้มีผลกระทบมากจากวิกฤตธนาคารสหรัฐและยุโรป และมองว่าปีนี้พื้นฐานของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดี จากแรงหนุนหลักของภาคท่องเที่ยว และมีการเลือกตั้ง ซึ่งคงจะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เป็นแรงส่งให้การระดมทุน IPO จะยังคงคึกคักอยู่ แต่ทั้งนี้ราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร คงแล้วแต่บริษัทที่เข้ามาระดมทุน หากพื้นฐานดี ราคาหุ้นถูกต้อง เชื่อว่าเพอร์ฟอร์มแน่นอน

“ปีนี้ IPO ตัวใหญ่ ๆ น่าจะมี บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่จะนำ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) เข้าตลาดหุ้น รวมถึง บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ที่บอร์ดเพิ่งอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นไอพีโอ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) เมื่อ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา”

บิ๊กคอร์ปส่งบริษัทลูกเข้าตลาด

นายพงศ์ศักดิ์กล่าวเสริมว่า ขณะที่เทรนด์บริษัทใหญ่ ๆ แยกบริษัทลูก (spin-off) เข้าจดทะเบียนตลาดหุ้น เชื่อว่าคงเป็นกลยุทธ์ของแต่ละบริษัทที่มองว่าอยากให้บริษัทลูกเติบโตขึ้น สามารถระดมทุนด้วยตัวเองได้ และสามารถนำเงินที่ระดมทุนไปขยายตามแผนการเติบโตของธุรกิจตัวเองได้ ขณะที่บริษัทแม่จะได้มี core business ในการค้นหาธุรกิจใหม่ ๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันบริษัทใหญ่ที่มีแผนนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนตลาดหุ้น อาทิ SCC มีแผนส่ง SCGC เข้าตลาดหุ้น ซึ่งปัจจุบันได้รับอนุญาตแบบคำขอให้เสนอขายหุ้นจากสำนักงาน ก.ล.ต.แล้ว และ BJC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้มีมติอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นไอพีโอ BRC

บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) มีแผนนำ บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นภายในปี 2567 บมจ.เจ มาร์ท (JMART) แย้มแผนนำบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ “สุกี้ตี๋น้อย” เข้าตลาดหุ้นปี 2567

บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ธุรกิจโรงพยาบาลของ “หมอบุญ วนาสิน” ประกาศ MOU แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เตรียมความพร้อมนำ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด เข้าตลาดหุ้นไอพีโอปี 2567 รวมถึง บมจ.ทีคิวเอ็ม อัลฟา (TQM) โบรกเกอร์ประกันภัยรายใหญ่ มีแผนนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนปีละ 1 บริษัท ในช่วง 3 ปีจากนี้ (2566-2568)

ขณะที่ บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) เตรียมส่งบริษัท ฟอร์ท เบฟเวอเรจ จำกัด ผู้ให้บริการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ “เต่าบิน” เข้าตลาดหุ้นภายในไตรมาส 4 ปีนี้ และ บมจ.อาร์เอส กรุ๊ป (RS) ประกาศนโยบายดันบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น 6 บริษัท

MGC เปิดจอง IPO เม.ย.นี้

นายวราห์ สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น บมจ.มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) หรือ MGC ผู้นำธุรกิจค้าปลีกยานยนต์ กล่าวว่า ปัจจุบัน MGC ได้อัพเดตไฟลิ่งใหม่กับสำนักงาน ก.ล.ต. โดยปรับจำนวนหุ้นไอพีโอที่เสนอขายรวมไม่เกิน 280 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด จากเดิมที่กำหนดไว้ 336 ล้านหุ้น ไม่เกิน 30% เนื่องจากได้ดึงหุ้นเก่ากลับคืนที่เสนอขายโดย MGC Investment Holdings Limited จำนวนไม่เกิน 56 ล้านหุ้น

โดยตอนนี้รอไฟลิ่งใหม่มีผลบังคับใช้ก่อน คาดว่าสำนักงาน ก.ล.ต.จะนับหนึ่งไฟลิ่งได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ หลังจากนั้นภายใน 2-3 วัน พร้อมเปิดเสนอขายหุ้น MGC ได้เลย ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดช่วงเวลาและราคาที่จะเสนอขายหุ้นไอพีโอ และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ได้ภายในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้

สำหรับธุรกิจ MGC เป็นผู้จัดจำหน่ายรถหลายแบรนด์ รายได้โตราว 5-8% ต่อปี และยังมีธุรกิจอื่นด้วย โดยเฉพาะบริษัทร่วมทุนกับ SCBX ในการปล่อยสินเชื่อผ่าน บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ จำกัด ซึ่งในอนาคตจะเติบโตกว่า MGC ด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ในปี 2565 MGC มีรายได้รวม 23,076.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 595.6 ล้านบาท

นายวราห์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับดีลในมือของฟินันซ่า ปีนี้น่าจะมี IPO อีก 1-2 ราย หวังว่าจะเข้าซื้อขายได้ทันในปีนี้ ทั้งนี้จากสถิติในการทำดีล IPO ช่วง 10 ปีที่ผ่านมากว่า 50 บริษัท ราคาต่ำจองแค่สัดส่วน 10% ดังนั้นหวังว่าหุ้นไอพีโอในมือน่าจะรักษาสถิติได้

ระดมทุนขยายสินเชื่อ Alpha X

ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม MGC กล่าวว่า บริษัทเริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ BMW โดยมีสาขาแรกที่พระราม 4 และขยายสาขาต่อเนื่อง จนได้รับความไว้วางใจจากพาร์ตเนอร์และพันธมิตรธุรกิจที่สนับสนุนการเติบโตตลอด 23 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน MGC มีสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการให้ลูกค้าครอบคลุมทั้งธุรกิจจำหน่ายรถยนต์หรูและบิ๊กไบก์ ได้แก่ Rolls-Royce, BMW, MINI, BMW Motorrad และ Harley-Davidson นอกจากนี้ ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเรือยอชต์ Azimut รายเดียวในประเทศไทย และผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเรือแม่น้ำ Chris-Craft แต่เพียงผู้เดียวในไทยและอาเซียน

รวมถึงธุรกิจให้เช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว VistaJet ตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารสายการบินชั้นนำ ธุรกิจบริการหลังการขายและซ่อมบำรุงรถยนต์อิสระ ธุรกิจบริการเช่ารถยนต์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและช่วยเสริมสร้างรายได้ระยะยาว อาทิ บริการทางการเงินครบวงจรสำหรับยานยนต์หรูและมารีน (Alpha X) นายหน้าประกันภัย (Howden Maxi)

ดร.สัณหวุฒิกล่าวว่า เป้าหมายระดมทุนของบริษัท 1.เพื่อนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน 2.ใส่เงินลงทุนเพื่อขยายพอร์ตในบริษัท Alpha X เนื่องจากเปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 8 เดือน เมื่อสิ้นปี 2565 บันทึกพอร์ตสินเชื่อแล้ว 3.8 พันล้านบาท ซึ่งตามแผนปี 2026 จะนำ Alpha X เข้าตลาดหุ้นด้วย ดังนั้นบริษัทต้องเติมส่วนทุนเข้าไปรองรับการเติบโตตรงนี้ และ 3.เพิ่มกระแสเงินสดเพื่อใช้ขยายธุรกิจ โดยเบื้องต้นมีแผนขยายศูนย์บริการ MMS Bosch ให้ครบ 35 สาขา ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีอยู่ 22 สาขา โดยเฟสแรกจะเพิ่มลงไปพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ อาทิ หัวเมือง เป็นต้น

AMATA แยกธุรกิจเข้าตลาดหุ้น

นอกจากนี้ ล่าสุด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) แจ้งว่า คณะกรรมการได้มีอนุมัติแผนปรับโครงสร้าง โอนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมให้ บริษัท อมตะ สแทรทจิก โฮลดิ้ง 1 จำกัด (Spin Co.) ซึ่งจะเป็นบริษัทแกนนำของกลุ่มบริษัท (Flagship Company) ในการดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศแทนบริษัท (ยกเว้นในประเทศเวียดนาม) ซึ่งจะไม่ประกอบธุรกิจลงทุนและพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นขอบเขตการดำเนินธุรกิจของ AMATA และหลังธุรกรรมการปรับโครงสร้างแล้วเสร็จ Spin Co. จะดำเนินการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป