ชงรัฐใช้ ม.44 ดันกม.ดิจิทัลไอดี นำร่อง 11 โครงการด้านการเงินกลางปีนี้

คลังชงใช้ ม.44 เร่งคลอดกฎหมายดิจิทัลไอดีรองรับระบบ “อีเควายซี” ทันใช้กลางปีนี้ หวั่นรอกระบวนการออก พ.ร.บ.นาน 6-7 เดือน แถมปรับแก้ยาก แนะเดินตามรอยกฎหมายอีอีซี ด้าน “อนุชิต” เผยเตรียมนำร่องใช้งานดิจิทัลไอดี 11 โครงการด้านการเงินกลางปีนี้

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะประธานอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากคณะกรรมการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital ID) ได้วางแผนนำ Digital ID platform มาใช้งานให้ทันช่วงกลางปี 2561 นี้ โดยจะเริ่มเห็นการใช้งานระบบการพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) กับธุรกิจภาคการเงินต่าง ๆ ดังนั้นในส่วนของการยกร่างกฎหมาย จึงต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อให้รองรับ e-KYC ได้ทัน

ทั้งนี้ ทางคณะอนุกรรมการได้หารือร่วมกัน มีความเห็นว่าควรเสนอให้อำนาจนายกรัฐมนตรี มาตรา 44 ประกาศคำสั่งออกมาใช้ก่อน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปได้ แล้วหลังจากนั้นจึงเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อไป หรือใช้แนวทางเดียวกับการออกกฎหมายเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก่อนหน้านี้

“ตอนนี้อนุกรรมการเห็นว่า ควรออกคำสั่งมาตรา 44 ก่อน เพราะเมื่อมีการบังคับใช้จริงก็จะเห็นปัญหา สามารถปรับแก้ได้ง่ายกว่าการรอออก พ.ร.บ.ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-7 เดือน เพราะการเสนอ พ.ร.บ.จะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอีก แถมปรับแก้ยุ่งยาก หรือถ้าจะไม่ออกกฎหมายมารองรับก็ลำบาก เพราะกฎหมายที่มีปัจจุบันไม่รองรับ แม้แต่ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่รองรับ” นายประภาศกล่าว

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการจะนำเรื่องนี้เสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ที่มี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ชี้ขาดในเร็ว ๆ นี้

นายประภาศกล่าวอีกว่า สาระสำคัญในการออกกฎหมาย e-KYC ก็เพื่อรองรับการยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีบริษัทตัวกลางในการให้บริการ ซึ่งจะสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ทันที จากเดิมที่ต้องให้มีการแสดงตัวต่อหน้า หรือการลงนามลายมือชื่อเวลาทำธุรกรรม

นายอนุชิต อนุชิตานุกูล ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยืนยันตัวตนผ่านดิจิทัล (National Digital ID) โดยเฉพาะงานในด้านเทคนิคมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมากแล้ว โดยเริ่มมีการทำตัวอย่างการใช้งานออกมาแล้ว อาทิ การสร้างโค้ด หรือการเรียกขอการพิสูจน์ตัวตน ซึ่งหลังจากงานด้านเทคนิคแล้วเสร็จ คาดว่าจะนำมาใช้กับหน่วยงานที่พร้อมก่อนได้ ซึ่งภายในช่วงกลางปีนี้น่าจะเริ่มเห็นการประเดิมใช้ดิจิทัลไอดีได้ในภาคการเงิน

ทั้งนี้ จากการหารือกันของฝ่ายกำกับดูแล ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีแนวทางที่จะผลักดันให้เกิด 11 โครงการนำร่อง อาทิ การใช้ e-KYC สำหรับการเปิดบัญชีธนาคารแบบออนไลน์ หรือสำหรับการเปิดบัญชีหลักทรัพย์ผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น

ส่วนกฎหมายที่จะออกมารองรับนั้น ยังไม่มีข้อสรุป หลังจากมีการประชุมไปแล้ว 3-4 รอบ ซึ่งก็มีข้อเสนอหลายแนวทาง ทั้งการปรับปรุงกฎหมายเดิม การยกร่างกฎหมายใหม่ รวมถึงมีการเสนอขอใช้มาตรา 44 เพื่อความรวดเร็ว

“อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายออกไม่ทัน ก็อาจมีการทำบางส่วนที่ทำได้ไปก่อน โดยในส่วนงานด้านเทคนิคตอนนี้ถือว่าเดินหน้าไปมากแล้ว โดยคาดว่าช่วงกลางปีนี้ น่าจะเริ่มเห็นการใช้ดิจิทัลไอดีใน 11 โครงการนำร่องกับหน่วยงานที่มีความพร้อมก่อน” นายอนุชิตกล่าว