กรุงไทย คงจีดีพีปี 66 ขยายตัว 3.4% จับตาเศรษฐกิจโลกผันผวน ลงทุนเอกชนโตต่ำ

เงาสะท้อนนักท่องเที่ยวต่างชาติ บนกระจกของรถตุ๊กตุ๊ก
FILE PHOTO : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย คงประมาณการจีดีพีปี 2566 ทรงตัวที่ 3.4% อานิสงส์การบริโภค-ท่องเที่ยวฟื้น สอดคล้องกับสภาพัฒน์ มองโต 2.7-3.7% จับตา เศรษฐกิจโลกผันผวน-เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง กดดันการลงทุนภาคเอกชน ต่ำกว่าประมาณการ 3.2%

วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ดร.ฉมาดนัย มากนวล และนายชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า จีดีพีไตรมาส 1/2566 ขยายตัวเร่งขึ้น 2.7% จากการส่งออกบริการและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2566 ขยายตัว 2.7%YOY หรือ เพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.9% QOQSA

โดยการรายงานเศรษฐกิจด้านรายจ่ายในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ การอุปโภคบริโภคเอกชนขยายตัว 5.4% เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 5.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในหมวดบริการที่ขยายตัว 11.1% ตามการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนขยายตัว 2.4% เทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัว 1.0% ตามการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะ

ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 2.3% ชะลอตัวลงทั้งหมวดอาหารและไม่ใช่อาหาร และการใช้จ่ายในหมวดกึ่งคงทนขยายตัวเท่ากับไตรมาสก่อนที่ 1.6% โดยการใช้จ่ายหมวดเสื้อผ้าและรองเท้าขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายหมวดเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งปรับตัวลดลง

รายงานระบุว่า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลหดตัว 6.2% เทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัว 7.2% โดยรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลง 40.4% ขณะที่ค่าตอบแทนแรงงาน และรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการปรับตัวดีขึ้นโดยขยายตัว 1.8% และ 1.0% ตามลำดับ

การลงทุนรวมขยายตัว 3.1% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.9% จากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว 2.6% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 4.5% จากการชะลอลงทั้งในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือที่ขยายตัว 2.8% และการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ขยายตัว 1.1% สำหรับการลงทุนภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.5% จากการขยายตัวของการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ 4.6% จากไตรมาสก่อนหดตัว 7.5% โดยปริมาณการส่งออกหดตัว 6.4% เมื่อเทียบกับการหดตัว 10.3% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่ราคาส่งออกขยายตัว 2.0% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 3.1%

สำหรับสินค้าหลักที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ยางพารา และอาหารสัตว์ ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์นั่ง รถกระบะและรถบรรทุก เครื่องปรับอากาศ น้ำตาล ข้าว และทุเรียน เป็นต้น

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 จากสภาพัฒน์