แนะเลี่ยงหุ้นอิงสัมปทานรัฐ ฟันด์โฟลว์ชะลอ-ลุ้นระทึกตั้งรัฐบาลใหม่

หุ้นอิงสัมปทานรัฐ

โบรกฯชี้ผิดคาดหลังเลือกตั้งรอบนี้ฟันด์โฟลว์ไม่ไหลเข้า เหตุนักลงทุนไม่มั่นใจ-กังวลจัดตั้งรัฐบาล จับตาจะออกทางไหน “บล.กสิกรไทย” ประเมิน 3 แนวทางสูตรตั้งรัฐบาลปัจจัยหนุนดัชนีหุ้นไทยระยะต่อไป แนะช่วงนี้ควรเลี่ยงลงทุนหุ้นอิงสัมปทานรัฐ ขณะที่ “บล.ทรีนีตี้” ชี้คะแนนเสียงออกมาไม่ชนะขาด ทำให้ตลาดกังวล ยังลุ้นฟันด์โฟลว์ทั้งสัปดาห์

นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระยะข้างหน้า คาดว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) น่าจะมีทิศทางที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย แต่ช่วงนี้อาจจะชะลอตัว

แม้ว่าการเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่การจัดตั้งรัฐบาลคงยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ทำให้นักลงทุนยังมีความไม่มั่นใจและความกังวลอยู่ ฉะนั้น กระแสฟันด์โฟลว์ที่คาดว่าจะไหลเข้า ก็อาจจะต้องรอจนจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ

ทั้งนี้ มองความเป็นไปได้ของการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1.พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม นำโดยพรรคก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาล โดยมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วนโหวตให้ เพราะไม่ต้องการโหวตสวนเสียงของประชาชน 2.พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม นำโดยพรรคก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาล

โดยสามารถดึงพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. หรือ 3.การผสมข้ามขั้วโดยพรรคอันดับสอง คือเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นการดึงพรรคในฝั่งรัฐบาลเดิมเข้าร่วมด้วย นอกเหนือจากพรรคภูมิใจไทย เพื่อให้ได้เสียง 250 เสียงขึ้นไป

“ทั้งสามแนวทางจะหนุนดัชนี SET ปรับตัวขึ้น แต่กรณีที่ 3 จะขึ้นช้า เพราะต้องรอให้ผ่านกรณี 1 และ 2 ก่อน โดยประเมินเป้าดัชนีหุ้นไทยกรณี 1 กับ 2 ปรับตัวดีสุด และกรณี 3 รองลงมา เนื่องจากสองแบบแรก พรรคฝ่ายค้านจะจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็งด้วยจำนวน ส.ส. รวมกันมากกว่า 300 จาก 500 ที่นั่ง นอกจากนี้ กรณีที่ 3 เชื่อว่าจะเพิ่มโอกาสที่จะเกิดการชุมนุมหรือลงถนนเพื่อประท้วงขึ้นได้และจะกระทบฟันด์โฟลว์ให้ไหลออก”

นายสุนทรกล่าวอีกว่า โดย บล.กสิกรไทย ประเมินหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ 1,520-1,585 จุดไปจนกว่าจะมีความชัดเจน ว่าการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ เนื่องจากตอนนี้พรรคก้าวไกลยังไม่สามารถรวบรวมเสียงได้มากกว่า 376 เสียง

“สำหรับหุ้นจะเห็นว่ามีบางกลุ่มที่มีการปรับตัวลดลง โดยจะเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสัมปทาน เช่น กลุ่มพลังงาน, โรงโฟฟ้า และกลุ่มสื่อสาร ก็แนะนำให้เลี่ยงลงทุนไปก่อน ส่วนกลุ่มที่ยังทำผลงานได้ดี จะเป็นกลุ่มการบริโภคภายในประเทศ เช่น ธนาคาร, ไฟแนนซ์, สื่อ รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น” นายสุนทรกล่าว

ตาราง แนวทางจัดตั้งรบ.

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า หากดูจากสถิติย้อนหลัง ไม่ว่าจะในปีที่พรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกินครึ่ง หรือชนะแบบแลนด์สไลด์ จะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท

ซึ่งมักจะไหลเข้ามาในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังเลือกตั้ง แต่ในอดีตก็จะมีบางครั้งที่ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าเกินหนึ่งสัปดาห์ เช่น กรณีเกิดมีการชนะแบบแลนด์สไลด์ ตอนเลือกตั้ง ปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทย ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 377 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง

“แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ตลาดยังมีความกังวลเพราะแม้ว่าพรรคก้าวไกลจะได้คะแนนเสียงสูงสุด แต่ก็ยังไม่ชนะขาด”

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทย หลังการเลือกตั้งรอบนี้ ประเมินว่ามีทิศทางในเชิงบวก หากออกมาใน 3 กรณี คือ 1.กรณีที่พรรคฝ่ายเสรีนิยมอันดับ 1 พรรคเดียว ได้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มากกว่า 310 เสียง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ 2.กรณีที่พรรคอันดับ 1 ได้คะแนนเสียงมากกว่า 250 เสียงและจับมือกับพรรคอันดับ 2 ได้สำเร็จ

โดยมีเสียงข้างมากรวมกันเกิน 375 เสียง ตัดปัญหาเรื่องคะแนนเสียงจาก ส.ว. และ 3.รัฐบาลผสมระหว่างพรรคเสรีนิยม ที่ได้ที่นั่ง 200 เสียงหรือต่ำกว่า ไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จึงต้องข้ามฝั่งไปร่วมมือกับพรรคฝั่งอนุรักษนิยม เพื่อให้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง

นายณัฐชาตกล่าวว่า ไม่ว่าหน้าตารัฐบาลจะออกมาในรูปแบบไหน สิ่งหนึ่งที่เห็นในหน้านโยบายหลัก คือเรื่องค่าแรงและเงินอุดหนุนต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยในกลุ่มแรงงานมากขึ้น ฉะนั้นหุ้นกลุ่มที่น่าจะแข็งแกร่ง ก็จะเป็นกลุ่มภาคบริการ

ได้แก่ กลุ่มธนาคาร ทั้ง BBL และ KTB, กลุ่มโรงพยาบาล คือ BCH กับ BDMS และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น คือ CPALL, BJC และ MAKRO โดยประเมินกรอบแนวต้านสำคัญในช่วงถัดไปที่ระดับ 1,610-1,630 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทน 3.2% ในช่วง 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้งในอดีต

“รอบนี้โอกาสที่จะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาในปริมาณมากเหมือนในอดีต ที่คะแนนเสียงมีการชนะขาด คงจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าจะลุ้นฟันด์โฟลว์ก็ต้องรอดู หากการจัดตั้งรัฐบาลดูมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติก็พร้อมที่จะขายทันที” นายณัฐชาตกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ในวันที่ 15 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันหลังเลือกตั้ง 1 วัน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไป 691.15 ล้านบาท โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 15 พ.ค. 2566 ต่างชาติขายสุทธิแล้ว 70,534.75 ล้านบาท