กูรูตลาดทุน วิเคราะห์วิสัยทัศน์ตัวเต็ง รมว.คลัง “ไม่แย่ แต่ ไม่ใช่”

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล17

กูรูตลาดทุน “อ.ปิง-ประกิต สิริวัฒนเกตุ” วิเคราะห์วิสัยทัศน์ตัวเต็ง รมว.คลัง “ไม่แย่ แต่ ไม่ใช่” ชี้นโยบายที่มุ่งเน้นรัฐสวัสดิการ แต่ลืมมองความสำคัญของตลาดทุน ตลาดทุนไทยที่แย่อยู่แล้วจะยิ่งแย่ลงไปอีก ส่งผลลบต่อสถานะการออมของมนุษย์เงินเดือน หวั่นความมั่งคั่งมีไม่มากพอจะเหวี่ยงกลับมาเป็นภาระรัฐสวัสดิการ และผู้เสียภาษีในอนาคตที่จะถูกรีดเลือดมากขึ้น

วันที่ 28 พฤษภาคม 2566 นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ได้ฟังว่าที่ รมว.คลัง คุณไหม ศิริกัญญา ตันสกุล ให้สัมภาษณ์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของ ลงทุนแมน (ฟังไปจัด ๆ 3 รอบ)

หลายคำถามที่ชวนให้กังวล ได้รับคำตอบที่ต้องบอกว่ายอมรับได้ (ไม่แย่) แต่อีกหลายคำถามที่เกี่ยวพันกับการเติบโต โดยเฉพาะตลาดทุน ยอมรับเลยว่า เหนื่อยแน่ ๆ 

เนื้อหาการให้สัมภาษณ์จะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคุณศิริกัญญา จะพูดถึงเป้าหมายและนโยบายที่พรรคก้าวไกลจะทำ

– เศรษฐกิจต้องโตอย่างเป็นธรรม ในอดีตเศรษฐกิจโตก็จริง แต่ดอกผลการเจริญเติบโตไม่ได้รับการกระจายอย่างเป็นธรรม

– มุ่งเน้นการกระจายรายได้ให้ เกษตร SMEs และแรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

– จัดการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันการค้า (ทลายทุนผูกขาด) โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการทำสัญญาผูกขาดกับรัฐบาล เช่น ธุรกิจเครื่องดื่มมึนเมา 

– เรื่องของการเติบโต เน้นไปที่เพิ่มศักยภาพของแรงงาน เน้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น ชิบ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เน้นเรื่องข้อมูลที่ทุกคนสามารถนำข้อมูลบางส่วนของรัฐไปใช้ได้ 

– ค่าไฟ จะเร่งคุยกับ กกพ. ปรับค่า Ft ลง (ปกติจะมีการปรับทุก ๆ 4 เดือน) ดังนั้นค่าไฟน่าจะลดลงได้ภายใน ธ.ค. ทันกรอบ 100 วันแรก

ส่วนที่ 2 คือ เน้นตอบคำถามต่าง ๆ

– เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน มองว่าเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการขึ้นค่าแรงสู่ดุลยภาพ เพราะที่ผ่านมาค่าแรงขึ้นเฉื่อยและไม่ทันกับเงินเฟ้อ 

– จะมีมาตรการชดเชย เยียวยา ให้กับ SMEs ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น งดการนำส่งเงินสมทบประกันสังคมได้ 6 เดือน ค่าจ้างนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และปรับลดภาษีนิติบุคคลให้กับ SMEs (25% เหลือ 10%) การลงทุนในเครื่องจักรสามารถนำมาลดภาษี 1.5-2 เท่า 

– เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายใหญ่ นำการลงทุนในเครื่องจักรมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5-2 เท่า

– ช่วงเปลี่ยนผ่าน มีความยืดหยุ่น ผู้ประกอบการสามารถขอเลื่อนหรือขยายเวลาในการปรับขึ้นค่าแรงได้ 

– ความกังวลว่าจะมีการย้ายฐานการผลิต จะแก้ด้วยการเพิ่มทักษะของแรงงาน (labor productivity) เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้แรงงานเพิ่มทักษะได้ในระยะเวลาสั้น ๆ (รัฐบาลจะอุดหนุนครั้งใหญ่ในเรื่องนี้)

– เรื่องทลายทุนผูกขาด มองทุนผูกขาดคือทุนที่มีอำนาจเหนือตลาด หากได้มาด้วยการมีนวัตกรรมของตัวเองอันนั้นโอเค แต่เมื่อไหร่ที่ได้อำนาจเหนือตลาด จากการใกล้ชิดกับรัฐหรือได้มาโดยสัมปทานที่ไม่ได้มีการประมูลอย่างโปร่งใส หรือได้มาเพราะควบรวมโดยยังไม่มีกฎหมายควบคุม พวกนี้จะเข้าไปทลายด้วยการออกมาตรการจัดการ รวมไปถึงยกเครื่องกฎหมายการแข่งขันการค้า 

– วิธีการทลายทุนผูกขาด กลุ่มโรงไฟฟ้า ไม่สามารถไปยกเลิกสัญญาสัมปทาน แต่จะแก้ด้วยการเจรจาเพื่อแก้สัญญา เช่น รัฐบาลจะขอเลื่อนการจ่ายค่าความพร้อมจ่ายแลกกับการขยายเวลาสัญญา มองอนาคตกำลังไฟสำรองที่เกินความต้องการจะลดลง (เท่ากับว่าจะมีแผนลดการทำสัญญาโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ) 

– จะมีการทบทวนสัญญาการรับซื้อไฟใหม่ อาจจะต้องมีการเปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้า (ทุกวันนี้มีการผูกขาดโดยรัฐ มี กฟผ. เป็นผู้ซื้อผู้เดียว) 

– กลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตอนนี้เหลือผู้ประกอบการ 2 ราย จะปรับกฎระเบียบเปิดเสรีโทรคมนาคม และเร่งเจรจาหาผู้ประกอบการรายที่ 3 และ 4 มากกว่าที่จะเข้าไปจัดการกับกลุ่มผู้ประกอบการเดิม 

– มองเรื่องดัชนีหุ้นไทยที่ปรับลดลง บางส่วนมาจากตลาดเชื่อว่าก้าวไกลเอาจริงในการทลายทุนผูกขาด แต่สาเหตุใหญ่อื่น ๆ มาจาก 1.ตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงด้วย 2.หุ้นมักจะลงหลังเลือกตั้ง 3. ฝรั่งขายเพราะความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเกิดจากปม รธน.ปี 2560 ที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความยากลำบาก 

– การเก็บภาษีจากกำไรเงินลงทุน Capital Gain Tax (CGT) มีความเป็นธรรมกับนักลงทุนรายย่อยมากกว่าภาษีจากการขายหุ้น Financial Transaction Tax (FTT) 

– มองว่าการลงทุนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น หุ้นกู้ พันธบัตร ที่ดิน หรือฝากเงินไว้ในธนาคาร ล้วนต้องเสียภาษี แต่การซื้อขายหุ้นกลับไม่เสียภาษี ถ้ามองที่ความเป็นธรรม การเก็บ CGT ดูเหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาผลกระทบ จากผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย (ตอนนั้นเป็นพี่ทอมไพบูลย์ เป็นผู้ถาม และถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้เสียประโยชน์จะไม่เห็นด้วยกับ CGT) 

– ภาษีจากความมั่งคั่ง wealth tax จะเก็บจากผู้ที่มีสินทรัพย์ (รวมหุ้นที่ถือด้วย) ลบหนี้สิน เกิน 300 ล้านบาท ส่วนที่เกินตั้งแต่บาทแรกจะเก็บ 0.5% มีอยู่ประมาณ 1 แสนรายทั่วประเทศ 

– ไม่คิดว่า wealth tax จะทำให้การออก IPO ของบริษัทต่าง ๆ ลดลง เพราะผลกระทบน้อย การได้ประโยชน์จากการระดมทุน เทียบกับ cost of fund จากแหล่งอื่น การเสีย wealth tax ถือเป็นต้นทุนที่เล็กน้อย 

– ภาษีทรัพย์สิน เป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมาคนอาจไม่สบายใจในการเสียภาษี แต่วันนี้ก้าวไกลจะใช้ภาษีให้คุ้มค่า เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข สร้างสวัสดิการมีหลักประกันที่มั่นคงในชีวิต 

– RMF ในการนำมาหักลดหย่อนภาษี ควรมีอัตราที่เป็นธรรม ไม่เกิน 15% (เพื่อไม่ให้ลดหย่อนมากจนเกินไป) ส่วน LTF ตอนนี้เป็น SSF มองว่าตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องดีมากแล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเอา LTF กลับมาอีก

– เห็นความสำคัญของตลาดทุน จะเน้นการเข้าไปทำให้เกิด fair game มุ่งเป้าไปที่ ก.ล.ต. ในการจัดการเอาผิดผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย 

– ภาษีนิติบุคคล มองว่ามีช่องว่าง Gap กับภาษีบุคคลธรรมดาที่กว้างมาก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จะมีการทยอยขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 20% เป็น 23% และปรับลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดา 

– จะไปมุ่งขึ้นภาษีที่ดินก่อน การขึ้นภาษีนิติบุคคล

– จะมุ่งไปที่รัฐสวัสดิการ (ไม่ถึงขั้นกลุ่มประเทศ Scandinavia Model) แต่ต้องให้ถึงขั้นสวัสดิการพื้นฐาน) 

– แหล่งที่มาของเงิน แม้จะไม่ทำรัฐสวัสดิการ แต่โปรแกรมภาษีกำลังรออยู่ จากสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้การ refinance พันธบัตรชุดต่าง ๆ ส่งผลให้รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยในแต่ล่ะปีไปชนขอบวินัยการคลังภายในปี 2570 ดังนั้น กระทรวงการคลัง (รัฐบาลชุดก่อน) มีแผนอยู่แล้วในการจะขึ้นภาษีต่าง ๆ 

– ก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีดังกล่าว เพราะจะเป็นการไปไล่เบี้ยกับประชาชนคนเล็กคนน้อย เช่น VAT และยกเลิกการยกเว้นผู้มีรายได้ 1.5 แสนบาทแรก 

– จะเน้นการเก็บภาษีจากผู้ที่มีความสามารถในการจ่าย และจัดการกับงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณฐานศูนย์ ตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นทิ้งไป และอุดรูรั่วเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ใช้ AI จับโกง 

– ภาษีที่ดิน ภาษีค่าเช่า และภาษีอื่น ๆ จะต้องมีการขันน็อต เก็บให้มีประสิทธิภาพ 

จากที่คัดย่อการให้สัมภาษณ์มา ผมขอสรุปตามความคิดเห็นของผมนะครับ

เป็นไปตามที่ Live ในทุกเช้าว่า เค้าจะมุ่งสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ เน้นการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ลดกำไรส่วนเกินของกลุ่มทุนใหญ่ ผ่านการขึ้น ค่าแรง ภาษี และเพิ่มคู่แข่ง ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs

แม้จะไม่มีการไปยกเลิกสัญญา รวมไปถึงขวางการควบรวมที่เกิดขึ้นก่อนหน้า แต่จะมีการออกมาตรการ กฎหมายการค้าต่าง ๆ

ดังนั้นจากนี้ ประสิทธิภาพการทำกำไร การเติบโตของกลุ่มทุนใหญ่จะเหนื่อยและยากกว่าเดิม และกระทบกับการลงทุนแน่นอน 

ส่วนความเหมาะสมของตำแหน่ง รมว.คลัง จากการฟังความคิดเห็นต่าง ๆ คุณศิริกัญญา มีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองจะทำเป็นอย่างดี แต่ภาพเศรษฐกิจของประเทศ มันมีการเชื่อมโยงกันหลายส่วน หลายคำตอบยังไม่เคลียร์ และมีคำถามต่ออีกมากมาย 

เช่น เรื่องการขึ้นค่าแรงมีความเฉื่อยและตามเงินเฟ้อไม่ทัน แล้ว ผลกระทบจากการกระชากค่าแรงขึ้น จะยิ่งเป็นการเร่งเงินเฟ้อหรือไม่ สุดท้ายแล้วต้องขึ้นค่าแรงรุนแรงไปเรื่อย ๆ หรือไม่ 

การกระชากค่าแรง ไม่มีวันทำให้ค่าแรงสู่จุดดุลยภาพ เพราะขึ้นอย่างไรก็ไม่มีวันตามเงินเฟ้อทัน สิ่งที่ต้องทำคือกระชากทักษะแรงงานขึ้นให้ได้ก่อน และค่าแรงจะถูกนำขึ้นด้วยกลไกตลาดเอง

ส่วนการขึ้นค่าแรงจะทำให้มีการย้ายฐานการผลิตหรือไม่ คำตอบว่าต้องไปเร่งเพิ่มทักษะแรงงาน จึงยังเป็นคำตอบที่ชวนให้สงสัยว่า การขึ้นค่าแรงก่อนเพิ่มทักษะ กลุ่มทุนต่างชาติจะรอไหวไหม และที่สำคัญกลุ่มทุนต่างชาติที่มาตั้งฐานผลิตในประเทศไทยนั้น เค้ามาด้วยค่าแรงเราถูกและเหมาะกับงานที่ใช้ทักษะไม่สูงมิใช่เหรอ  หากต้องการทักษะสูง ค่าแรงสูง เค้าจะย้ายฐานมาทำไม

ด้านการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ไม่ใช่แค่ต้องมาจากรากฐานที่มั่นคง (firm ground) แต่ต้องมีโครงสร้างที่เข้มแข็ง (Framed Structure) และไม่ใช่แค่กติกาแข่งขันอย่างเป็นธรรม (Fair Game) แต่ระบบภาษีต้องยุติธรรมด้วย (Fair Tax) ด้วย

ประเทศไทยมีรายได้จากการเก็บภาษีปีหนึ่งราว 1.8 ล้านล้านบาท ในนั้น 5 แสนล้าน มาจากภาษีบุคคลธรรมดา คนกลุ่มนี้คือผู้ที่ถูกหักภาษีทุกเดือนแบบอัตโนมัติ และส่วนใหญ่ไม่ใช่คนรวย 

ผู้เสียภาษีคือฐานรายได้หลักของรัฐ คือกำลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจ การเติบโตของผู้เสียภาษีจะทำให้เกิดการบริโภค และหมุนให้เศรษฐกิจเดินหน้า

เศรษฐกิจจะเติบโตได้ ต้องขยายฐานผู้เสียภาษีอย่างเป็นธรรม การทำมาหาได้ของทุกอาชีพต้องเข้าสู่ระบบภาษี ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ใช่ไปมุ่งรีดภาษีจากผู้ที่เสียภาษีอยู่แล้วให้เสียภาษีมากขึ้น 

ยิ่งรีดยิ่งแห้งตาย ผู้ที่ทำมาหาได้จะยิ่งเหมือนถูกลงโทษ เพราะนอกจากจะไม่ได้รวยมากพอที่จะได้สิทธิพิเศษจากรัฐ ความที่ไม่จนมากพอก็ทำให้ไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ จากมาตรการหรือสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐด้วยเช่นกัน 

ผลกระทบเรื่องนี้กลับไม่มีการพูดถึง เช่นเดียวกับความรู้ความเข้าใจในกลไกตลาดทุนต่อระบบเศรษฐกิจ 

คำตอบที่ได้รับคือ ต้องมีการไปศึกษาก่อน 

ตลาดทุนไม่ใช่ที่ ๆ มีแต่คนรวยอยู่ 90% ของคนในตลาดทุนไทยไม่ใช่คนรวย เป็นคนมีพอร์ตการลงทุนต่ำกว่า 5 ล้านบาท และหวังใช้ตลาดทุนเป็นหนึ่งในช่องทางการลงทุนเพื่อการออม เพื่อสร้างความมั่งคั่งไว้ใช้ในยามเกษียณ 

นโยบายที่มุ่งเน้นที่รัฐสวัสดิการ แต่ลืมมองที่ความสำคัญของตลาดทุน ตลาดทุนไทยที่แย่อยู่แล้วจะยิ่งแย่ลงไปอีก ส่งผลลบต่อสถานะการออมของมนุษย์เงินเดือน สุดท้ายเมื่อความมั่งคั่งมีไม่มากพอ มันก็จะเหวี่ยงกลับมาเป็นภาระรัฐสวัสดิการ และผู้เสียภาษีในอนาคตที่จะถูกรีดเลือดมากขึ้น

ถ้าเรื่องความตั้งใจในสิ่งที่จะทำผมให้เต็มสิบ แต่ถ้าเรื่องความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ทุกท่านลองไปฟังและให้คะแนนกันเอาเองนะครับ