ดอกเบี้ยขึ้น-ผ่อนรถไม่ไหว 5 เดือนปล่อยยึด 9 หมื่นคัน

สัญญาณหนี้เสียเพิ่ม แบงก์คุมปล่อยกู้ใหม่ ลูกค้าผ่อนรถไม่ไหว ดอกเบี้ยขึ้น-ค่าครองชีพแพง ธุรกิจลานประมูลรถยนต์ขยายพื้นที่รับรถยึดเพิ่มไม่หยุด คาดทั้งปียึดรถยนต์ 2.5 แสนคัน 5 เดือนแรกยึดมาแล้วเกือบ 9 หมื่นคัน มอเตอร์ไซค์ไม่น้อยหน้าถูกยึดเดือนละเกือบ 3 แสนคัน เฉพาะโตโยต้ายึดเข้าพอร์ตประมูลออนไลน์เดือนละ 500 คัน ภาพรวมยอดขายรถใหม่ลดลง 22%

นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มรถยึดมีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่ไม่สูงแบบก้าวกระโดดถึง 1 ล้านคัน โดยหากดูตัวเลขในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 มียอดรถยึดไหลเข้ามาในลานประมูลแล้ว 8-9 หมื่นคัน ซึ่งหากเทียบตัวเลขไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 3-5%

ทั้งนี้ ประเมินว่าภาพรวมรถยึดจะเป็นการทยอยไหลเข้าลานประมูลหลังจากนี้ ตามลูกหนี้ที่หมดมาตรการพักชำระหนี้ทยอยครบตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2565 และไม่สามารถชำระหนี้ได้ และกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทำให้สถาบันการเงินทยอยยึดรถ

คาดว่าจะมียอดรถยึดอยู่ที่ราว 2-2.5 แสนคันในปีนี้ จากปกติยอดรถยึดจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7-1.8 แสนคัน และปรับลดลงในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เหลือเฉลี่ย 1.4-1.5 แสนคัน

และหากดูตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลเช่าซื้อทั้งระบบ คาดว่าจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เฉลี่ยในปีนี้จะวิ่งอยู่ราว 1.5-2.0% ส่วนหนึ่งที่เอ็นพีแอลไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้นมาจากสถาบันการเงินยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้

เพราะหากปล่อยเป็นหนี้เสียสถาบันการเงินจะต้องมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเป็นต้นทุนธนาคาร จึงเห็นการประคองลูกหนี้แทน รวมถึงการคัดกรองลูกค้าใหม่ โดยการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อป้องกันหนี้เสีย

5 เดือนยึดรถ 9 หมื่นคัน

สำหรับในส่วนของบริษัท ยอดรถยึดในช่วง 5 เดือนแรกมียอดขายประมาณ 200 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 10-12% ซึ่งคาดว่าทั้งปียังคงเป็นไปตามเป้าหมาย 500 ล้านบาท หรือมียอดรถยึดเข้ามาประมูลราว 8-9 หมื่นคัน ถือเป็นอันดับ 2 ของตลาด

โดยปัจจุบันมีพันธมิตรราว 80-90 รายที่นำส่งรถยึดเข้าลานประมูล ถือว่าครอบคลุมตลาดมากกว่า 90% เช่น สถาบันการเงิน, Captive Finance, บริษัทรถเช่า, ประกันภัย รวมถึงบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อรองรับปริมาณรถยึดที่เพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างการขยายพื้นที่โกดังเก็บรถเพิ่มเติมอีก 2 แห่งในพื้นที่ภาคอีสาน จากปัจจุบันมีอยู่ 27 แห่ง

“ตัวเลข 1 ล้านคันน่าจะเป็นการคาดคะเนบนหนี้เสีย 1.5% จะมีรถกลายเป็นหนี้เสียทั้งหมด 1 ล้านคัน แต่ปัจจุบันยังไม่เกิด เพราะแบงก์เองก็เร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพราะไม่อยากตั้งสำรอง และหากเศรษฐกิจดี ลูกค้าผ่อนได้ โอกาสจะเป็น 1 ล้านคันคงไม่เกิด เพราะเฉลี่ยสถานการณ์ปกติเฉลี่ยรถยึดอยู่ที่ 1.7-1.8 แสนคันเท่านั้น”

ขยายลานประมูลรับรถยึดเพิ่ม

นายชุมพล กิตติชัยสมบัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามอินเตอร์ การประมูล จำกัด (SIA) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โดยภาพรวมยอดรถยึดเข้ามาลานประมูลเพิ่มขึ้น สะท้อนจากปริมาณการส่งรถของสถาบันการเงินและพันธมิตรให้บริษัทมากขึ้น โดยเฉลี่ยมีรถยึด (รถยนต์และจักรยานยนต์) เข้ามาประมาณ 4,000-5,000 คันต่อเดือน ถือว่าเพิ่มขึ้นราว 10-20%

และจากปริมาณยอดรถยึดที่สถาบันการเงินส่งเข้ามาลานประมูลเพิ่มขึ้น ทำให้มีรถยึดที่ค้างในสต๊อกสะสมอยู่ราว 1 หมื่นคัน และคาดว่าแนวโน้มรถสะสมในสต๊อกจะเพิ่มขึ้นอีกราว 10% หรืออยู่ที่ราว 1.1 หมื่นคัน ทำให้บริษัทจำเป็นต้องขยายพื้นที่ลานประมูลเพิ่มเติม

เพื่อรองรับปริมาณรถยึดที่เพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกัน จากปัจจุบันมีลานประมูลอยู่ 42 แห่ง และภายในเดือนหน้าจะมีการจัดประมูลในภาคใต้และจังหวัดนครปฐม สะท้อนว่ามีรถยึดในพื้นที่นั้นเพิ่มขึ้น

“หากดูสัญญาณรถยึดที่เร่งเพิ่มขึ้น ประเมินว่าสถานการณ์ลูกหนี้เริ่มสะท้อนจากภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง รายได้ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ถดถอย รวมถึงการปล่อยสินเชื่อที่มากขึ้น ซึ่งบางส่วนอาจจะเป็นการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ได้เข้มงวด และไม่มีการวางเงินดาวน์ ทำให้คนตัดสินใจทิ้งรถ ยอดรถยึดจึงเพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คงไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจนไม่สามารถบริหารจัดการได้”

ดอกเบี้ยสูง ลูกค้าผ่อนไม่ไหว

นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทยอยปรับสูงขึ้นมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากลูกค้าที่หมดมาตรการช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงิน ทำให้มีบางส่วนผ่อนชำระไม่ไหว ประกอบกับเจอภาระดอกเบี้ยขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูง ส่งผลต่อค่าครองชีพแพงขึ้น จึงตกชั้นเป็นหนี้เสีย สอดคล้องกับอัตราการยึดรถที่ปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การกำกับดูแลของ ธปท.ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะเข้ามาช่วยดูแลให้การปล่อยสินเชื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจะมีการขึ้นทะเบียนและเกณฑ์การกำกับผู้ประกอบการตามขนาดของพอร์ตสินเชื่อคงค้าง

ซึ่งจะแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ ขนาดใหญ่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ขนาดกลางตั้งแต่ 1,000-5,000 ล้านบาท ขนาดเล็ก 100-1,000 ล้านบาท และขนาดจิ๋วไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ประกอบการท้องถิ่น น่าจะทำให้คุณภาพสินเชื่อปรับดีขึ้น

TTB-มียอดรถยึด 2,500 คัน

นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM หรือ Stage 2) ซึ่งค้างชำระ 1-2 งวด แต่ยังไม่ได้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีสัญญาณเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2565

ส่วนหนึ่งมาจากการปรับฐานของกฎกติกาที่มีการควบคุมเบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมการชำระล่าช้า ส่งผลต่อพฤติกรรมการชำระหนี้ของลูกค้าเปลี่ยนไป โดยปัจจุบัน SM ของทีทีบีอยู่ที่ประมาณ 8-9%

“สถานการณ์รถยึดไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉลี่ยธนาคารจะมีรถยึดอยู่ที่ประมาณ 2,000 คันต่อเดือน และสูงสุดไม่เกิน 2,500 คันต่อเดือน ภายใต้อัตราหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำราว 1-1.1% แม้ว่าจะเห็นการขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม แต่อยู่ในระดับบริหารได้”

มอเตอร์ไซค์ NPL 10%

นายศุภชัย บุญสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮเวย์ จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและนายหน้าประกันภัย ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ในกลุ่มธนาคารทิสโก้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่าซื้อ

ยอมรับว่าขยับเพิ่มขึ้นจากปี 2565 เล็กน้อย แต่ไม่เร่งขึ้นจนน่ากังวล หรือเกิดวิกฤตแต่อย่างใด โดยในส่วนของสถานการณ์รถยึดก็ยังทรงตัวอยู่ที่ 20% ของยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ สอดคล้องกับระบบ

ทั้งนี้ หากดูสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอล จะเป็นการปรับขึ้นเป็นช่วง ๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเห็นการขยับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดและเปิดเทอม ทำให้ลูกค้ามีความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงทำให้การชำระเงินค่างวดเป็นไปในลักษณะแบบฟันหลอ

หรือจ่ายบางงวดเว้นบางงวด ทำให้เอ็นพีแอลสะวิงขึ้นและลงเฉลี่ย 0.50-0.75% จากปัจจุบันบริษัทมีเอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับ 10% แม้ตัวเลขสูง แต่เป็นผลมาจากบริษัทไม่ได้มีการตัดขายหนี้ แต่บริหารจัดการเองตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ทำให้เอ็นพีแอลลดลงค่อนข้างช้าเพราะใช้เวลาในการจัดการประมาณ 1 ปี

“ภาพรวมเอ็นพีแอลยังไม่ได้วิกฤต มีขยับเพิ่มขึ้นเป็นช่วง ๆ ตามลักษณะของรถจักรยานยนต์ยังทรงตัว คือปล่อยกู้ 5 คันจะเสีย 1 คัน หรือ 20% แต่คาดว่าครึ่งหลังของปีสถานการณ์จะดีขึ้น ประกอบกับเราค่อนข้างระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว”

ด้านนายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลมีทิศทางขยับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทชะลอการปล่อยสินเชื่อใหม่ เนื่องจากรอความชัดเจนของหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

รวมถึงผลกระทบจากเกณฑ์การควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่มีผล 10 มกราคมที่ผ่านมา

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ยอดสินเชื่อใหม่ในไตรมาสที่ 1/2566 หดตัว 6.5% ส่งผลให้เอ็นพีแอลขยับเพิ่มขึ้น หากเป็นพอร์ตสินเชื่อในประเทศเอ็นพีแอลเพิ่มเป็น 8% จาก 6.8%

แหล่งข่าวผู้ประกอบการเช่าซื้อเปิดเผยว่า สถานการณ์รถยึดในส่วนของรถจักรยานยนต์ หากดูยอดขายในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.7-1.8 ล้านคัน เป็นการซื้อเงินสดราว 20% และไฟแนนซ์อีก 80% หรือคิดเป็นประมาณ 1.4 ล้านคัน ซึ่งจากข้อมูลโดยปกติยอดยึดรถจักรยานยนต์แต่ละปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2.5-2.8 แสนคัน ซึ่งในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ส่วนหนึ่งมาจากการอั้นในปี 2563-2564 เพราะมีมาตรการช่วยเหลือและชะลอการยึดรถ แต่ภายหลังหมดมาตรการจะเห็นการไหลเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผ่อนชำระไม่ไหว หรือปล่อยให้สถาบันการเงินยึดรถ

อนึ่ง จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM หรือ Stage 2) ของสินเชื่อเช่าซื้อ ณ ไตรมาสที่ 1/2566 อยู่ที่ 164,828 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.85% ของยอดสินเชื่อรวมทั้งหมด เป็นการเพิ่มขึ้นจากไตรมสที่ 4/2565 ที่อยู่ 161,790 ล้านบาท หรือ 13.66%

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ ไตรมาสที่ 1/2566 อยู่ที่ 22,520 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.89% ของยอดสินเชื่อรวมทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2565 ที่อยู่ 22,288 ล้านบาท หรือ 1.88% ของยอดสินเชื่อรวมทั้งหมด

โตโยต้ายึดเดือนละ 500 คัน

ด้านแหล่งข่าวจากวงการรถยนต์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์รถถูกยึดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งระยะหลังมีลานประมูลเข้ามารับช่วงดูแลทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยกลุ่มลูกค้าที่รับช่วงต่อจะเป็นนายหน้า ประมูลไปส่งต่อให้ตามเต็นท์รถทั่วไปทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด

นายรุ่งโรจน์ ขันชะลี ประธาน บริษัท อ็อคชั่น เอ็กซ์เพรส Auction Express ในเครือโตโยต้า กล่าวว่า บริษัททำหน้าที่ประมูลออนไลน์ โดยรับรถยึดจากโตโยต้าลีสซิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบรนด์โตโยต้าสภาพสวย ใช้น้อย หลังจากนั้นนำมาปรับปรุงสภาพ เช็กกว่า 110 จุด ก่อนที่จะเปิดประมูลออนไลน์ ซึ่งต่อเดือนสามารถมีรถประมูลประมาณ 500 คัน

“ตอนนี้มีค่ายรถยนต์หลายยี่ห้อติดต่อให้เราดำเนินการประมูลให้ ล่าสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมาก็เพิ่งทำให้แบรนด์มาสด้า”

ยอดขายรถใหม่ลดลง 22.5%

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานสถิติการจำหน่ายรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2566 มีปริมาณการขาย 276,603 คัน ลดลง 6.1% โดยเฉพาะตลาดรถกระบะ (pure pickup) ปริมาณการขายแค่ 105,119 คัน ลดลงถึง 22.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอการตัดสินใจซื้อของภาคธุรกิจ และภาคประชาชนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจหลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด ที่มียอดสั่งซื้อรถยนต์ทุกประเภทเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา


ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมก็มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงของการเลือกตั้ง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการชะลอการตัดสินใจซื้อ ซึ่งภาคประชาชน และภาคเอกชนต่างเฝ้ารอความชัดเจนในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป