ตลาดจับตาการประชุมเฟด สัปดาห์หน้า

ธนาคารสหรัฐแห่กู้เงินเฟด
Daniel SLIM/ AFP/ File Photo

ตลาดจับตาการประชุมเฟด สัปดาห์หน้า FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 72.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 6-9 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันอังคาร (6/6) ที่ระดับ 34.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/6) ที่ระดับ 34.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเป็นผลมาจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ถูกเปิดเผยโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐ (2/6) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 339,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งอยู่

ในขณะที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง โดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

และในคืนวันจันทร์ (5/6) สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ได้มีการเปิดเผยดัชนีภาคบริการ (PMI) เดือนพฤษภาคมของสหรัฐที่ 50.6 ลดลงจากเดือนเมษายนที่ 51.9 ทางด้านเฟดสาขาแอตแลนตาได้เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุด ในวันที่ 3 มิถุนายน โดยแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.0% ในไตรมาส 2/2566 หลังจากขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1

คาดเฟดคงดอกเบี้ยในการประชุม 13-14 มิ.ย.

ส่วนทาง FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 72.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายน และให้น้ำหนักเพียง 27.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% เนื่องจากข้อมูลค่าจ้างแรงงานขยายตัวปานกลางในเดือนพฤษภาคม

ในช่วงกลางสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.72% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.90%

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนที่ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.75% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.5% เช่นเดิม ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าวงจรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางทั่วโลกรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐอาจยุติช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูง

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่ายอดการส่งออกสินค้าในเดือนเมษายน ย่อตัวลง 5.3% สู่ระดับ 1.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยอดการส่งออกได้รับแรงกดดันจากการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง

ในขณะที่ยอดการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 2.00% สู่ 2.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้สหรัฐขาดดุลการค้าในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 23.00% สู่ระดับ 7.48 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 6.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 ปี

ทั้งนี้ในวันศุกร์ (9/6) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบเงินสกุลหลักรวมถึงเงินบาท หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 28,000 ราย สู่ระดับ 261,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 235,000 ราย

ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐ เริ่มคลายความร้อนแรงและทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้

เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าหลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ประจำเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 0.53% ชะลอตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือนจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.96% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.56% ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปี 2566

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.55-34.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/6) ที่ระดับ 34.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันอังคาร (6/6) ที่ระดับ 1.0714/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/6) ที่ระดับ 1.0768/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นมาตรวัดสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 52.8 ในเดือน พ.ค. แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนลดลงจากระดับ 54.1 ในเดือน เม.ย.แม้ดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคธุรกิจของอียูอยู่ในภาวะขยายตัว

อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 53.3 สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการขั้นสุดท้ายในเดือน พ.ค.อยู่ที่ระดับ 55.1 ลดลงจากระดับ 56.2 ในเดือน เม.ย. และต่ำกว่าค่า PMI ภาคบริการขั้นต้นที่ 55.9 แรงกดดันด้านต้นทุนโดยรวมลดลงในเดือน พ.ค. ทั้งดัชนีราคาปัจจัยการผลิตและราคาผลผลิตก็ปรับตัวลง โดยดัชนีราคาผลผลิตลดลงเหลือ 56.4 จาก 56.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564

ECB เล็งปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%

นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง 0.7% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือนและยอดค้าปลีกเดือนเมษายนของยูโรโซนออกมาไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนเมษายน เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงในด้านอาหารและเชื้อเพลิงรถยนต์

ส่งผลให้ผลสำรวจล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่าผู้บริโภคในยูโรโซนได้ลดคาดการณ์เงินเฟ้อลงในเดือนเมษายน ซึ่งนับเป็นสัญญาณผ่อนคลายสำหรับผู้กำหนดนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ดี ประธาน ECB และประธานธนาคารเยอรมนีได้กล่าวย้ำการคาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ทางด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB จะทำการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งก่อนที่จะคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีนี้

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายนปรับตัวขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือนต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6% บ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0865-1.0786 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/6) ที่ระดับ 1.0764/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันอังคาร (6/6) ที่ระดับ 139.54/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/6) ที่ 138.78/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวันจันทร์ (5/6) ได้มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (services PMI) เดือนพฤษภาคมของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอยู่ที่ระดับ 55.9 จาก 55.4 เมื่อเดือนเมษายน แต่ยังคงต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 56.3

อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่ายอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในเดือนเมษายนขยายตัว 76.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 1.9 ล้านล้านเยน โดยยอดขาดดุลการค้าสินค้าหดตัว 83.5% สู่ระดับ 1.131 แสนล้านเยน ส่วนยอดนำเข้าลดลง 4.1% จากปีก่อนหน้าสู่ระดับ 8.34 ล้านล้านเยน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ยอดนำเข้าลดลงในรอบ 2 ปี 3 เดือน ขณะที่ยอดส่งออกขยายตัว 2.6% สู่ระดับ 8.22 ล้านล้านเยน นำโดยการส่งออกรถยนต์และอุปกรณ์เกี่ยวกับสายตาที่เพิ่มขึ้น

ส่วนรายได้ปฐมภูมิ (Primary Income) ซึ่งสะท้อนถึงรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศนั้นเกินดุลอยู่ที่ระดับ 3.07 ล้านล้านเยน ถือเป็นการเพิ่มขึ้น 3.1% โดยได้แรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในต่างประเทศ และเงินเยนที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินอื่น ๆ

ขณะที่สำนักข่าว CNBC รายงานว่า การอ่อนค่าของเงินเยนครั้งใหม่ในปีนี้ทำให้ตลาดบางส่วนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะใช้มาตรการ Open Market Operation มากขึ้น เนื่องจาก BOJ ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบพิเศษโดยคงอัตราดอกเบี้ยที่ -0.1% ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.74-140.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/6) ที่ระดับ 139.65/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ