เงินเฟ้อสหรัฐชะลอ ตลาดหวังเฟดยุติขึ้นดอกเบี้ย

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

เงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัว ตลาดหวังเฟดยุติขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโกสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 10-14 กรกฎาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (10/7) ที่ระดับ 35.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/7) ที่ระดับ 35.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังกรมสถิติแรงงานของสหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 209,000 ตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 230,000 ตำแหน่ง และต่ำกว่าตัวเลขในเดือนพฤษภาคมที่ 306,000 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.6% ตามที่ตลาดคาดการณ์ และต่ำกว่าเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 3.7% ส่วนตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบรายปี ทรงตัวจากในเดือนพฤษภาคม และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.2%

เฟดส่งสัญญาณ ใกล้ยุติขึ้นดอกเบี้ย

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ได้กล่าวว่าสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

นอกจากนี้ นางดาลียังกล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินการของเฟดมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น และเฟดก็ใกล้จะเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่นายไมเคิล บาร์ รองประธานเฟดฝ่ายกำกับดูแลภาคธนาคารกล่าวว่า เฟดมีความคืบหน้าอย่างมากในการดำเนินนโยบายด้านการเงินในปีที่ผ่านมาและใกล้จะบรรลุเป้าหมายแล้ว

ADVERTISMENT

ทางด้านนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์กล่าวว่า ยังคงสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่งและมองว่าใกล้ยุติการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินแล้ว ในวันพุธ (12/7) ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% จากระดับ 4.0% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.1% ในเดือนพฤษภาคม

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.8% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 5.0% จากระดับ 5.3% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.4% ในเดือนพฤษภาคม

ADVERTISMENT

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนมิถุนายนที่เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (13/7) นั้น โดยดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.9% ในเดือนพฤษภาคมและเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากปรับตัวลง 0.4% ในเดือนพฤษภาคม

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% จากระดับ 2.6% ในเดือนพฤษภาคม และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพฤษภาคม

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผุ้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 12,000 ราย สู่ระดับ 237,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 250,000 ราย นอกจากนี้เฟดได้เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขต หรือ Beige Book โดยระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐ นั้นขยายตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่าการขยายตัวจะอ่อนค่าลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จากตัวเลขดังกล่าวข้างต้นได้กดดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่อง

ปัจจัยในประเทศ ลุ้นโหวตนายกฯอีกรอบ 19 ก.ค.

สำหรับปัจจัยในประเทศ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 56.7 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 55.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13

ในส่วนปัจจัยการเมืองภายในประเทศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารประกอบคำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อ ทั้งนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ลงรับคำร้องในทางธุรการ และจะนำคำร้องดังกล่าวเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาต่อไป

ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย กรณีนายพิธา และพรรคก้าวไกล มีการหาเสียงเรื่องประเด็นแก้ไขกฎหมาย ม.112 ซึ่งอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

สำหรับการเห็นชอบนายกรัฐมนตรีที่มีการลงคะแนนในวันพฤหัสบดี (13/7) นั้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังได้เสียงไม่มากพอจากรัฐสภา โดยมีผู้เห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง ซึ่งการเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงรวม 376 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด โดยจะมีการประชุมสภาเพื่อคัดเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.45-35.22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 34.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (10/7) ที่ระดับ 1.0961/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/7) ที่ระดับ 1.0884/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ผู้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่า ECB จะยังมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับสูง และทาง ECB ต้องการให้เงินเฟ้อยูโรโซนกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีได้เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.3% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายเดือน เท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ และสูงกว่าเดือนพฤษภาคมที่ระดับ -0.1%

นอกจากนี้ยูโรยังได้แรงหนุนจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีที่เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนียังคงทรงตัวอยู่เหนือระดับเป้าหมาย โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบรายปี ทรงตัวจากระดับ 6.4% ในเดือนพฤษภาคม และดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 6.8% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายปี ทรงตัวจากระดับ 6.8% ในเดือนพฤษภาคม

ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0942-1.1242 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 1.1222/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (107) ที่ระดับ 141.21/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/7) ที่ระดับ 143.06/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยก่อนหน้านี้ตลาดได้จับตาว่าทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนหรือไม่

แต่กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นออกมากล่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะยังไม่เข้าแทรกแซงค่าเงิน หากค่าเงินเยนยังไม่ได้อ่อนค่าอย่างรวดเร็วมากเกินไป รวมถึงหากค่าเงินเยนยังไม่แตะระดับ 150 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ คงเป็นไปได้ยากที่จะเข้าแทรกแซง อีกทั้งแนวโน้มที่ว่าเฟดใกล้ถึงจุดสิ้นสุดวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นยังหนุนค่าเงินเยนให้แข็งค่าเทียบสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มเติม เนื่องจาก Yield Spread ระหว่าง 2 สกุลเงินในอนาคตจะแคบลง

ทั้งนี้ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการแข็งค่าตามสกุลเงินในภูมิภาค รวมถึงได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจจะปรับรายละเอียดในนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ในการประชุมวันที่ 27-28 กรกฎาคม นอกจากนั้น บีโอเจเริ่มส่งสัญญาณในช่วงนี้ว่า ภาวะเงินเฟ้อเริ่มได้รับแรงกระตุ้นมากยิ่งขึ้นจากอุปสรรค์ของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์นี้่ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.23-143.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 136.24/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ