ค่าเงินผันผวน จับตาโหวตนายกฯไทย-ประชุม FED, ECB, BOJ สัปดาห์นี้

บาท

ค่าเงินผันผวน จับตาโหวตนายกฯไทย และประชุม FED, ECB, BOJ สัปดาห์นี้ ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group ชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค.นี้

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/7) ที่ระดับ 34.54/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/7) ที่ระดับ 34.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังดัชนีดอลลาร์ปรับตัวที่ระดับ 101.09

เนื่องจากนักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในช่วงกลางสัปดาห์นี้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และให้น้ำหนักเพียง 0.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%

อย่างไรก็ตาม บรรดานักลงทุนยังคงมีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายของเฟดในระยะยาว แม้คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมที่จะถึงนี้ก็ตาม

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดยังคงจับตาดูการนัดถก 8 พรรคร่วมในวันพรุ่งนี้ (25/7) โดยได้นัดแกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลหารือถึงข้อสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่าง ๆ และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อหาข้อสรุปเรื่องรายชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีที่จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาในวันที่ 27 ก.ค. 66 เวลา 14.00 น. ณ พรรคเพื่อไทย

ADVERTISMENT

ซึ่งความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.38-34.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/7) ที่ระดับ 1.1122/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/7) ที่ระดับ 1.1126/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในวันที่ 27 ก.ค. ซึ่งอาจเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 8 ครั้งติดต่อกัน

ADVERTISMENT

โดยในวันนี้ได้มีการเปิดเผยตัวเลขกิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนหดตัวลงในเดือน ก.ค. ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น โดยด้านดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นของยูโรโซนเดือน ก.ค. ร่วงสู่ระดับ 42.7 จาก 43.4 ในเดือน มิ.ย.

ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นของยูโรโซนเดือน ก.ค. ชะลอตัวต่อเนื่องสู่ระดับ 51.1 จาก 52.0 ในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจหดตัว ทั้งนี้ระหว่างค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1064-1.1146 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1090/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/7) ที่ระดับ 141.69/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/7) ที่ระดับ 141.66/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันนี้ (24/7) Jibun Bank ได้เปิดเผยแบบสำรวจว่ากิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องในเดือน ก.ค. ขณะที่ภาคบริการเติบโตชะลอตัวลง เนื่องจากธุรกิจในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่อ่อนแอและความเชื่อมั่นที่ถดถอย

ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ก.ค. จาก Jibun Bank อยู่ที่ 49.4 ในเดือน ก.ค. ลดลงจากระดับ 49.8 ในเดือน มิ.ย. โดยระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่า กิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะหดตัว อีกทั้งยอดคำสั่งซื้อใหม่ลดลงมากที่สุดนับตั้งเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ยอดสินค้าส่งออกใหม่ยังคงลดลงต่อเนื่อง แต่ลดลงในอัตราชะลอตัวลง

ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นเดือน ก.ค.จาก Jibun Bank ได้รับการปรับค่าตามฤดูกาลและลดลงสู่ระดับ 53.9 จากเดิม 54.0 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.

โดยกลุ่มที่มีการเติบโตชะลอตัวที่สุดในภาคบริการนับตั้งแต่เดือน ม.ค. คือกลุ่มธุรกิจใหม่ ขณะที่แนวโน้มการจ้างงานพลิกกลับมาเป็นถดถอย โดยการประชุมนโยบายทางการเงินในวันที่ 28 ก.ค.นี้ BOJ คาดการณ์ว่า อาจปรับนโยบายการเงิน เนื่องด้วยสัปดาห์ที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานพุ่งขึ้น 3.3% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% เป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ระหว่างวัดค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 141.17-141.81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 141.34/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยของ (25-26/07), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (27/07), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (27/07), ดุลการค้าไทย (27/07), ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (28/07) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐ (PEC) เดือน มิ.ย. (28/07)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.70/-10.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.80/-10.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ