แบงก์ตั้งการ์ดสำรองสูง รับมือ “เศรษฐกิจ-การเมือง” ไม่แน่นอน

ค่าเงินบาท-ธนบัตร-bank note
ภาพ : REUTERS

ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว สถานการณ์เงินเฟ้อที่ส่งผลให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นอานิสงส์สำคัญที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทย ทำผลงานกันได้ดีในงวดไตรมาส 2/2566 และงวดครึ่งปี 2566

โกยรายได้ดอกเบี้ยหนุนกำไรโต

โดยธนาคารกสิกรไทยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 จำนวน 10,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2.36% โดยรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นหลัก ๆ มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโตขึ้น

ธนาคารกรุงเทพแจ้งกำไรสุทธิงวดแรกปี 2566 (ครึ่งปี) 21,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.2% จากงวดแรกปี 2565 ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 36.0% สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น

ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีกำไรสุทธิจำนวน 17,102 ล้านบาท เติบโต 12.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักคือรายได้จากการดำเนินงาน จากการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มเติม ซึ่งเป็นผลจากการควบรวมธุรกิจในต่างประเทศในไตรมาสที่ 2

ฟากบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2566 จำนวน 11,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิจำนวน 22,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8%

Advertisment

ตั้งการ์ดสูงรับมือความไม่แน่นอน

อย่างไรก็ดี หลาย ๆ แบงก์โดยเฉพาะแบงก์ขนาดใหญ่ มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญกันในระดับสูงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แบงก์ยังคงดำเนินการตามหลักความระมัดระวังอย่างสม่ำเสมอในการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตามแนวทางที่ธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดการลูกค้าธุรกิจรายใหญ่รายหนึ่งที่เริ่มมีสัญญาณความเสื่อมถอยในไตรมาสก่อน และได้มีสำรองครบถ้วนแล้วในไตรมาส 1 ปี 2566

ตาราง ผลประกอบการ

เช่นเดียวกับ SCBX ที่ตั้งเงินสำรองในเชิงรุก 12,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพื่อรองรับการดำเนินงานของธุรกิจในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภคที่ไม่มีหลักประกัน ภายใต้สถานการณ์ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงเปราะบาง มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ

Advertisment

โดย “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX ย้ำว่า บริษัทยังคงดำเนินธุรกิจตามหลักความระมัดระวังรอบคอบภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน และมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านธนาคารกรุงเทพระบุว่า ได้ตั้งสำรองในไตรมาส 2 ปี 2566 ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ทำให้สำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในงวดแรกปีนี้มีจำนวน 17,354 ล้านบาท

สำรองสูงเพื่อความแข็งแกร่ง

ด้าน “ธนเดช รังษีธนานนท์” Director of Research บริษัทหลักทรัพย์ พาย กล่าวว่า ผลประกอบการกลุ่มแบงก์ค่อนข้างดีกว่าคาด โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากมาร์จิ้นที่สูงขึ้น จากการบริหารจัดการต้นทุนที่ทำได้ดี รวมถึงได้อานิสงส์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ขณะที่สินเชื่อก็ยังเติบโตได้ แต่ไม่มากนัก ในช่วงของครึ่งปีแรก เพราะอาจจะกังวลเรื่องของเศรษฐกิจและบางธนาคารก็ยังอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้าง

“ส่วนที่เห็นได้ชัดว่ายังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ คือ รายได้ค่าธรรมเนียม ที่มีแนวโน้มน่าจะลดลง หรือเพิ่มขึ้นได้ก็อาจจะเพียงเล็กน้อย จากตลาดทุนที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากปัจจัยเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยและปัจจัยทางการเมืองที่ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ

ด้านการตั้งสำรองก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี แม้ว่าอาจจะเห็นว่าการตั้งสำรองสูง แต่เป็นเพราะแบงก์มีความพยายามที่จะเพิ่มระดับงบดุลที่ดีขึ้น เพราะหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังอยู่ในส่วนที่สามารถควบคุมได้”