เศรษฐกิจติดกับดักรัฐบาลใหม่ ทุบความเชื่อมั่น “รัฐ-เอกชน” เกียร์ว่าง

นักธุรกิจเชื่อมั่น “เพื่อไทย” แกนนำตั้งรัฐบาล เข้าใจเศรษฐกิจ มีทีมที่เข้มแข็ง พร้อมเชียร์ “เศรษฐา” นักธุรกิจเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลจะเข้าใจบริบททางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันด้าน KKP ชี้หากตั้งรัฐบาลใหม่ยังไม่ชัดและลากยาวกระทบต่อความเชื่อมั่น หวั่นเกิดอาการเกียร์ว่างทั้งรัฐ-เอกชนกิจกรรมเศรษฐกิจชะงัก พร้อมคาดการณ์ถ้ามีรัฐบาลใหม่ผสมหลายพรรค/ขั้ว รัฐบาลจะอายุสั้น เกิดประท้วงกระทบท่องเที่ยวเครื่องยนต์สุดท้าย แนะเร่งแก้โจทย์ระยะยาว “ดึงดูดลงทุน” เศรษฐกิจไทยหมดบุญเก่า บิ๊กค้าปลีกชี้ตั้งรัฐบาลช้าส่งผลกระทบถึงกำลังซื้อภาพรวม

ภายหลังจากพรรคก้าวไกล “ยอมรับ” ไม่สามารถเป็นการแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ และเปิดทางให้ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน โดยพรรคก้าวไกลยืนยันที่จะเป็นผู้เสนอชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 27 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

อันเป็นการยืนยันว่า พรรคก้าวไกล ยังคงเป็น 1 ในพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ภาคเอกชนยังคงแสดงความเป็นห่วงถึงความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังไม่รู้ว่า “ใคร” จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งจะต้องเผชิญกับโจทย์ทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หลังการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวสิ้นสุดลงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

ถ้าเพื่อไทยเป็นแกนตั้งรัฐบาล

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ครั้งถัดไปในวันที่ 27 ก.ค.นี้ “ผมยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่าจะเป็นในลักษณะใด”

แต่สิ่งที่เป็นภาพชัดเจนแล้วขณะนี้ก็คือ การเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีสามารถทำได้เพียงครั้งเดียว และไม่สามารถจะใช้ญัตติเดิมในการเสนอชื่อคนเดิมได้ ซึ่งหมายความว่า หมดสิทธิที่จะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลซ้ำแล้ว

Advertisment

หลังจากนี้คงเป็นไปตามแนวทางที่พรรคก้าวไกลเสนอให้พรรคอันดับ 2 ซึ่งคือ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยสามารถวิเคราะห์ได้ 2 กรณีที่อาจจะเกิดขึ้น คือ 1) กรณี ส.ว.ยืนยันไม่โหวตหากมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

แต่ทั้ง 8 พรรคร่วมเดิมยังจับมือเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยขึ้นมาแทน ก็จะต้องมาพิจารณาว่า สมาชิกรัฐสภาจะให้การสนับสนุนถึง 375 เสียงได้หรือไม่

2) กรณีทั้ง 8 พรรคร่วมสลายขั้ว เพื่อเปิดโอกาสให้ พรรคเพื่อไทย เป็นอิสระในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคใดก็ได้ ซึ่งจะมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขนี้ต้องเป็นไปตามความตกลงของ 8 พรรคร่วมอีกทีหนึ่ง

หาก “พรรคเพื่อไทย” ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จก็จะได้คนที่มีประสบการณ์เข้ามาขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็มีคณะทำงานในด้านนี้อยู่แล้ว และเคยได้พิสูจน์ให้เห็นในครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอดูพัฒนาการต่อไปจนกว่าจะถึงวันโหวตว่า จะมีทิศทางจะเป็นอย่างไร หากในวันที่ 27 ก.ค.นี้ไม่ผ่าน ครั้งต่อไปน่าจะเป็นต้นเดือนสิงหาคม

Advertisment

“ดังนั้นการคัดสรรชื่อต้องเป็นที่ยอมรับในทางรัฐสภา” ซึ่งโอกาสในการได้รัฐบาลใหม่ในเดือนสิงหาคม หรือช้าสุดในเดือนกันยายน

ส.อ.ท.ชี้ 4 โจทย์รอรัฐบาลใหม่

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากพรรคเพื่อไทยพลิกกลับมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะเดินตามนโยบายช่วงที่หาเสียงไว้ โดยจะเน้นไปที่รากหญ้าและ SMEs เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แต่อาจจะ “ยกเว้น” ไม่ดำเนินโครงการที่ใช้จ่ายเงินเยอะ อย่างเช่น ดิจิทัล wallet แต่น่าจะไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใด ๆ มากนัก และพรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายสุดโต่งเหมือนพรรคก้าวไกล

“ส่วนตัวเห็นว่า คุณเศรษฐาดีที่สุดใน 3 ทางเลือก สำหรับด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นเพื่อไทย จะเห็นว่าจุดแข็งที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย คือ เข้าใจกลไกเศรษฐกิจ มีประสบการณ์ทำงาน มีทีมเศรษฐกิจแน่น และทำการบ้านมาดี

การดำเนินนโยบายน่าจะเน้นไปที่โครงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าและ SMEs หากทำได้สำเร็จจะส่งผลดีต่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป มีการประนีประนอม กับทุนผูกขาด และอำนาจนิยม แต่หากมีก้าวไกลร่วมด้วยจะเสริมเรื่องนโยบายด้านสังคม เช่น ในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา การแก้ปัญหาสังคม” นายอิศเรศกล่าว

ซึ่งในมุมมอง concerned points ของเอกชน ส.อ.ท.เห็นว่า 1) ผู้นำรัฐบาลและทีมงานบริหาร ควรมีความสามารถเข้าใจงานเป็นอย่างดีไม่ต้องมาศึกษาเริ่มใหม่ 2) ทำงานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดในการแก้ปัญหาสำคัญเศรษฐกิจ 4 เรื่อง เรื่องการส่งออกหดตัว, ส่งเสริมการท่องเที่ยว, เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน

3) เข้าใจภาพเศรษฐกิจระดับมหภาค เพื่อวางแผนในระยะกลาง ระยะยาว เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change การเลือกจุดยืนที่เหมาะสมของประเทศใน geopolitics ปัญหาภัยแล้ง และ supply chain security และ 4) ต้องวางตัวบุคคลไม่โกงกิน มีความซื่อสัตย์สุจริต เน้นประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นที่ตั้ง

“ส่วนนโยบายการเพิ่มค่าแรง 600 บาท ของพรรคเพื่อไทยนั้น เท่าที่ทราบพรรคจะดำเนินการภายใน 4 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า จะมองถึงปัจจัยต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะเศรษฐกิจ GDP growth รวมทั้งความสามารถของนายจ้าง ซึ่งรัฐบาลใหม่ควรเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนและแรงงานควบคู่กันไป” นายอิศเรศกล่าว

เอกชนเกียร์ว่างไม่ตัดสินใจ

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล จนยังไม่รู้ว่า “พรรคไหน หรือใคร จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี” นั้น จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน

เพราะนอกจากรัฐบาลจะเกียร์ว่างแล้ว ภาคเอกชนก็เกียร์ว่างไปด้วย คนที่จะลงทุนก็ไม่กล้าตัดสินใจลงทุนกัน ดังนั้น ยิ่งสถานการณ์ลากยาวออกไปมากเท่าไหร่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็จะชะลอ เศรษฐกิจก็จะมีปัญหา

“รัฐบาลที่จะตั้งใหม่นี้คงคาดเดาได้เลยว่า อยู่ไม่ยาว เพราะมันกลายเป็นรัฐบาลผสม แบบผสมเยอะด้วย แล้วแบบนี้นโยบายของรัฐบาลหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ยังไม่มีใครรู้ ดังนั้นปัจจัยการเมืองกับนโยบายที่ยังไม่ชัดเจนเป็นเรื่องใหญ่” ดร.พิพัฒน์กล่าว

นอกจากนี้การจัดตั้งรัฐบาลที่มีการหักดิบและมีการแทรกแซงอะไรกันต่าง ๆ อาจจะทำให้เห็น “การประท้วง” ซึ่งจะยิ่งทำให้ชีวิตรัฐบาลใหม่นั้นสั้นลงไปอีก เพราะแรงกดดันจะมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นนอกจากจะกระทบความเชื่อมั่นแล้วก็จะกระทบภาคการท่องเที่ยวด้วย

“สมมุติว่าถ้าเกิดมีม็อบทุกวัน แบบนี้นักท่องเที่ยวที่เคยคิดว่าจะมาเมืองไทย เจอแบบนี้ก็ไม่มา ซึ่งผมห่วง 2 เรื่องนี้ คือ เรื่องการตัดสินใจ ลงโทษ การลงทุนเอกชน แล้วก็ความเชื่อมั่นที่จะกระทบถึงการท่องเที่ยวได้ เพราะนี่เป็นเครื่องจักรเครื่องสุดท้ายของเศรษฐกิจไทยแล้ว” ดร.พิพัฒน์กล่าว

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP กล่าวอีกว่า รัฐบาลใหม่มีโจทย์เศรษฐกิจรอให้แก้อยู่เต็มไปหมด ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะอยู่ได้สั้นหรือยาว แต่ปัญหาใหญ่ของเมืองไทยวันนี้ก็คือ การแก้โจทย์เศรษฐกิจระยะยาว ว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยโตได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า

โดยเฉพาะเรื่อง “การดึงดูดการลงทุน” เพราะหากไม่ทำในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยอาจจะโตเหลือไม่ถึง 3% ต่อปี โดยเฉพาะหากมัวแต่กระตุ้นระยะสั้น หรือ “ไม่สร้างบุญใหม่ แทนบุญเก่า” ที่กำลังจะหมด ประเด็นเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ๆ

“อีก 1-2 ปี เศรษฐกิจคงฟื้นได้จากการท่องเที่ยวที่กลับมา แต่พอท่องเที่ยวหมดแล้ว เราจะโตกันอย่างไรต่อ ซึ่งต้องพูดถึงการลงทุนเชิงกลยุทธ์ จะดึงอุตสาหกรรมไหน ต้องทำอะไรไหม ต้องโปรโมตให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในเมืองไทย ไม่ใช่กระตุ้นบริโภคระยะสั้นอย่างเดียว

ฉะนั้นรัฐบาลใหม่มาก็ต้องโปรแอ็กทีฟ จะไปคุยหรือจะไปดึงใครมาลงทุน เพราะถ้าดูอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ตอนนี้รอบบ้านเรามีโรงงาน มีอีโคซิสเต็มหมดแล้ว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็มี อินโดนีเซียก็กำลังจะมี ส่วนไทยเหมือนโดนทิ้งแล้วตอนนี้ บุญเก่าเรากำลังจะหมดไปเรื่อย ๆ” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ถ้า “เศรษฐา” เป็นนายกฯ

นายชาติชาย พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บมจ.ชีวาทัย (CHEWA) และกรรมการ บมจ.เออร์โก้ ประกันภัย (ERGO) กล่าวว่า มองสถานการณ์การเปลี่ยนสูตรการจัดตั้งรัฐบาล หากเป็น “สูตรพรรคเพื่อไทย” ที่จะเสนอชื่อนายกฯ คือ คุณเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นนักธุรกิจก็หวังว่า จะช่วยทำให้รัฐบาลมีความเข้าใจในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้เร็ว

เพราะช่วงที่ผ่านมาจะเป็นรัฐบาลที่มีผู้นำไม่ใช่นักธุรกิจ ต้องอาศัยแต่ละกระทรวงขับเคลื่อน ซึ่งเสียเวลากว่าจะวางแผนนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอต่อนายกฯ

ฉะนั้นเมื่อได้นายกฯที่เป็นนักธุรกิจเชื่อว่า ขั้นตอนหลาย ๆ อย่างจะรวดเร็วมากขึ้น และทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น แต่สำคัญคือ ในการโหวตนายกฯในวันที่ 27 ก.ค.นี้ จะเป็นการเสนอชื่อ คุณเศรษฐา ทวีสิน หรือไม่ เพราะยังไม่ทราบว่า พรรคร่วมรัฐบาลเองในฝั่งพรรคก้าวไกลจะวางตัวอย่างไร “ถ้าเกิดพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคยังเป็นเหมือนเดิมก็มีโอกาสที่นายกฯจะโหวตไม่ผ่านเหมือนกัน

ฉะนั้นคงจะต้องมีการสลับเปลี่ยนขั้วบ้าง เพื่อให้เกิดความสมดุล เพราะถ้าเพื่อไทยและก้าวไกลยังอยู่ คงต้องยอมเอาพรรคจากรัฐบาลเดิมมาร่วมด้วยเพิ่มเติม เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งเสียงโหวต ส.ว. ฉะนั้นคาดว่า ทางพรรคเพื่อไทยน่าจะต้องพูดคุยกับพรรคก้าวไกลให้ชัดเจน ในเรื่องที่จะนำพรรคฝั่งรัฐบาลเดิมเข้ามา เพื่อให้คะแนนเกิน 374 เสียง จะได้ตัวนายกฯเสียที”

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทุกอย่างหยุดหมด โดยเฉพาะ “ต่างชาติ” ซึ่งกำลังเป็นห่วงเรื่องการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น ภายในเดือนสิงหาคมเป็นอย่างช้า “ต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ แม้ว่าจะเป็นขั้วไหนก็ตาม” เพราะต่างชาติไม่รู้จักพวกเรา แต่เขาจะมองว่าเป็นรัฐบาลถาวร ไม่ใช่รัฐบาลชั่วคราว เท่านั้นเองที่ต่างชาติกำลังกังวล ส่วนในรายละเอียดการทำงานค่อยมาว่ากันต่อ

3 ข้อเสนอ SMEs

ขณะที่ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย (สมาพันธ์ SME) กล่าวว่า การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่และหมดโอกาสจะได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีไทย มีผลต่อนโยบายที่เคยหารือไว้และจะมีผลต่อการขับเคลื่อนนโยบาย SMEs ที่ก้าวไกลได้วางแนวทางไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และตอบสนองความต้องการของ SMEs

ทั้งช่วยให้เกิดการกระจายโอกาส กระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งแม้บทบาทก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็มีความคาดหวังจาก SME และประชาชนที่จะนำนโยบายหรือให้ข้อเสนอแนะที่ดีอย่างสร้างสรรค์ไปใช้ประโยชน์ได้ในสภาผู้แทนราษฎร

“นอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว ก็ยังมีพรรคเพื่อไทยที่มีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่ชัดเจน เช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่แม้จะมีจำนวน ส.ส.ไม่มากเท่า แต่การขับเคลื่อนนโยบาย มาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจก็มีอยู่ในนโยบายของแต่ละพรรค

แต่ความคาดหวังของผู้ประกอบการและประชาชน สิ่งที่สำคัญก็คือ การรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์ สงบ สันติ ไม่สร้างความขัดแย้งให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประเทศ”

ส่วนสิ่งที่ SMEs ต้องปรับตัวในช่วงสุญญากาศทางการเมืองก็คือ การวางแผนธุรกิจรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ และบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของตน โดยมีข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนประเทศและเศรษฐกิจไปได้ ได้แก่

1) ค่าแรง ยังต้องมุ่งเน้น “จ่ายตามทักษะ” ซึ่งภาครัฐมีแผนการพัฒนาทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องอยู่ แต่ปรับปรุงให้สอดรับการกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีตามที่ผู้ประกอบการต้องการและสร้างการมีส่วนร่วม อีกทั้งมาตรการจูงใจแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบ เพื่อได้รับการพัฒนาและค่าแรงงานที่เป็นธรรมตามทักษะฝีมือ

2) ต้นทุนผู้ประกอบการ SMEs ทั้งวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต พลังงานไฟฟ้า น้ำมัน รวมถึงการขยับอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า ผลประกอบการ ขีดความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันกับภาคเอกชนลดภาระดังกล่าวข้างต้นให้ผู้ประกอบการอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม

3) ตลาดและนวัตกรรมนำการผลิต ที่ต้องบูรณาการระบบการส่งไม้ต่อของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่เป็นกลไกการขับเคลื่อน สร้าง บ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความสร้างสรรค์ มีฐานนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ สามารถส่งต่อไปยังหน่วยส่งเสริมสนับสนุนด้านการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ การออกแบบกลไกการตลาดเชื่อมผู้ประกอบการให้เข้าถึงสะดวก ง่ายขึ้น เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

จีนจับตาการเมืองไทย

ด้าน ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า นักธุรกิจจีนให้ความสนใจและจับตามองสถานการณ์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด ในด้านหนึ่งจากบางพรรค แกนนำประเมินว่า ประเทศไทยแนบแน่นกับจีนมากเกินไป และต้องการโยงการเมืองไทยให้ไปฝักใฝ่สหรัฐและชาติพันธมิตรแทน การดำเนินนโยบายเช่นนี้อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน

และโดยที่จีนมีลักษณะของการเมืองนำเศรษฐกิจ ถ้ามิติทางการเมืองไม่เอื้อหรือขาดเสถียรภาพ มิติทางเศรษฐกิจก็จะไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างราบรื่น “ประเด็นความไม่ชัดเจนทางการเมือง ส่งผลให้กิจการจีนจึงชะลอการตัดสินใจ หรือส่วนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยไปแล้ว ก็ชะลอการดำเนินการออกไปจนกว่าสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลจะมีความชัดเจน”

แต่อีกด้านหนึ่งก็มองว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองบานปลายจนเกิดความรุนแรงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจนั้น ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจีนก็อาจไม่อยากให้คนของเขาเดินทางออกมาและเพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้เสียโอกาสทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่เคยมีมาตั้งแต่การฉีดวัคซีน การปลดล็อกทัวร์กลุ่ม จำนวนเที่ยวบินและอื่น ๆ จนคลี่คลาย

แต่ไทยก็ยังติดกับดักตัวเองจากหลายปัจจัยมาจนถึงเรื่องการเมือง เศรษฐกิจก็ส่งสัญญาณอ่อนแรง เหล่านี้น่าจะทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเชิงลบ เป้าหมายที่ภาครัฐอยากเห็นนักท่องเที่ยวจีน 5 ล้านคน หรือที่เอกชนคาดหวัง 7-8 ล้านคน กำลังหลุดลอยไป นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีน และฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดหวังไว้

ทุนนอกรอความชัดเจน

นายโสภณ ราชรักษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPIT กล่าวว่า การเมืองที่ยังยืดเยื้ออาจจะมีผลทางอ้อมต่อจิตวิทยาของนักลงทุน เพราะนักลงทุนรอดูความชัดเจนว่าพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาล เพื่อดูแนวนโยบายของพรรคที่จะเข้ามาก่อน ซึ่งไทยควรจะทำให้มีความชัดเจนโดยเร็ว

เพื่อรับกระแสการเคลื่อนย้ายของนักลงทุนจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนกระจายซัพพลายเชนออกมาจากจีนสู่อาเซียน (decoupling) ซึ่งจะแบ่ง 2 เวฟ เวฟแรกจะเข้ามาในปีนี้ ซึ่งจะเห็นการลงทุนของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ยานยนต์ไฟฟ้า และบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาก่อน จากนั้นเวฟที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะตามมาลงทุนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ยิ่งช้ายิ่งกระทบกำลังซื้อ

นายวีรธรรม เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด ผู้บริหารเชนร้านค้าปลีก ซีเจ เอ็กซ์เพรสและซีเจ มอร์ กล่าวว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลอาจทำให้การใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐและการออกนโยบายด้านเศรษฐกิจล่าช้าออกไป จน “กระทบต่อกำลังซื้อในภาพรวม”

สำหรับการสลับขั้วแกนนำรัฐบาลเป็นพรรคเพื่อไทยนั้น “ผมเชื่อว่าไม่น่ากังวล และยังนับเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจด้วย” เนื่องจากเป็นพรรคที่ให้ความสนใจด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก และเข้าใจความต้องการของประชาชนเช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล ขณะที่ตลาดยังคงมีดีมานด์เพราะผู้บริโภคยังคงต้องจับจ่ายสินค้าจำเป็นต่าง ๆ

แช่แข็งเศรษฐกิจไทยอยู่กับที่

ด้าน นายวิเชียร เจนตระกูลโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีฟ้าโฟรเซนฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่และโฟรเซนโด (Dough) รายใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้แบรนด์ศรีฟ้าและสุธีรา กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชน การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี พรรคที่ได้เสียงข้างมากควรได้เข้าไปบริหารประเทศ พรรคที่มีเสียงข้างน้อยก็ต้องเป็นฝ่ายค้านเป็นไปตามหลักสากล

แต่ปัจจุบันการจัดตั้งรัฐบาลไม่มีความชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลต่อความสงบของประเทศ เกิดการไม่ยอมรับ ทั้งการสลับขั้วการเมืองเพื่อให้ได้เสียงข้างมากก็ไม่อยากให้เกิดตุลาการภิวัตน์อีก และควรสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคม

หากผู้มีอำนาจเดิมยังไม่ปล่อยให้เป็นไปตามครรลองคลองธรรมหรือความถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ก็จะส่งผลให้บ้านเมืองวุ่นวาย เศรษฐกิจแย่ นักลงทุนต่างชาติ มีความลังเล เกิดความไม่เชื่อมั่น เพราะกฎหมายประเทศไทยบิดไปบิดมา ซึ่งมองว่าประเทศไทยจะไม่ต่างจากประเทศเมียนมา ปัจจุบันมองว่า เป็นการดึงเศรษฐกิจไทยให้ถอยหลังหรือแช่แข็งอยู่กับที่

“การจัดตั้งรัฐบาลก็อยากจะให้เกิดความเป็นธรรมที่สุด เพราะนักธุรกิจจะมีความมั่นใจในเรื่องของการลงทุนมากที่สุด ถ้าเกิดการลงทุนจะมีการจ้างงาน เกิดการผลิต แต่หากเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ นักลงทุนต่างชาติก็มองอยู่ว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป นักลงทุนใหม่ไม่มาไม่เป็นไร แต่เกรงว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่เขามีความมั่นใจมากกว่านี้ อาทิ เวียดนามและกัมพูชา” นายวิเชียรกล่าว