
เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ จับตาผลการประชุม กนง. วันพุธที่ 2 สิงหาคมนี้ นักวิเคราะห์คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2.25% เพื่อลดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศ และเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มผันผวนอยู่ในระดับสูง
วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/7) ที่ระดับ 34.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/7) ที่ระดับ 34.49/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ
- ครม.เคาะขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 10% เริ่มงวดแรกปี 2567
- วันหยุดเดือนธันวาคม 2566 เช็กวันหยุด วันสำคัญ วันหยุดยาว-หยุดต่อเนื่อง
- เจาะลึกพฤติกรรม “Silver Age” สูงวัย ไม่เท่ากับ คนแก่
หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยถึงราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (PCE) ในเดือน มิ.ย. ปรับตัวขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน จากระดับ 0.1% ในเดือน พ.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการคาดการณ์ที่ระดับ 3.0% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2021 หลังจากเพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือนก่อนหน้า
ส่วนดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน ชะลอตัวลงจากระดับ 0.3% ในเดือนที่แล้ว และเป็นการปรับตัวขึ้น 4.1% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.2% ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงจากระดับ 4.6% ในเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงได้สนับสนุนมุมมองของนักลงทุนด้านการยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่าในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ วันที่ 19-20 ก.ย.นักลงทุนให้น้ำหนัก 79.50% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ของเดือนก่อนที่เคยให้น้ำหนักที่ 69.1%
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายนในปี 2023 พบว่าเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ และดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกมีมูลค่า 24.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.9% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.3%
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปประจำเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 0.23% เมื่อเทียบรายปี ลดลงจากระดับ 0.53% ในเดือนก่อน จากหมวดอาหารสดเป็นสำคัญตามราคาเนื้อสุกรและผักสดที่ต่ำลง เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 1.32% เมื่อเทียบรายปีลดลงจากระดับ 1.55% ในเดือนก่อน จากผลของฐานสูงในราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะเกิดขึ้นในวันพุธ (05/08) นักวิเคราะห์ส่วนมากคาดการณ์ว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.25% เพื่อลดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศ และเพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มผันผวนอยู่ในระดับสูง โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.18-34.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/7) ที่ระดับ 1.1020/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/7) ที่ระดับ 1.0972/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) เปิดเผย รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ประจำเดือน ก.ค. ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับการคาดการณ์ที่ระดับ 5.3% เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5.5%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ปรับตัวขึ้น 5.5% เมื่อเทียบรายปี มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.4% หลังจากมีการเพิ่มขึ้น 5.5% ในเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1002-1.1035 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1029/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/7) ที่ระดับ 140.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/7) ที่ระดับ 139.26/139.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสกุลเงินเยนยังคงทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะ 0.605% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2557 ภายหลังจากในการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ถึงแม้ว่ายังคงประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ให้เคลื่อนไหวในกรอบ -0.5% ดังเดิม แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เปิดโอกาสให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับไม่เกิน 1% จากเดิมที่ 0.5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.69-142.44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 142.37/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลีย (01/08), ธนาคารกลางอังกฤษ (01/08), ธนาคารแห่งประเทศไทย (05/08) ส่วนตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตของสหรัฐ จากสถาบัน ISM (01/08), ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ของสหรัฐ จากสถาบัน JOLTs (01/08), จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (03/08), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคบริการของสหรัฐจากสถาบัน ISM (04/08), อัตราการว่างงานของสหรัฐประจำเดือน มิ.ย. (5/8) และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ประจำเดือน มิ.ย. (5/3)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.90/-10.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.95/-10.85 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ