ธปท. จับตา 3 ปัจจัยกระทบเศรษฐกิจไทย ชี้ตั้งรัฐบาลล่าช้ายิ่งกระทบเชื่อมั่น

ย่านเศรษฐกิจ
ภาพจาก Pixabay

ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.-ไตรมาส 2 ปี’66 ยังคงทยอยฟื้นตัว อานิสงส์ภาคท่องเที่ยว-มูลค่าส่งออกทุเรียนไปจีนช่วยดัน เผยมองไปข้างหน้าต้องจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทย “ภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก-การจัดตั้งรัฐบาล-ผลกระทบค่าครองชีพต่อกลุ่มเปราะบาง”

วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า

เศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย. 2566 และไตรมาส 2 ปี 2566 อยู่ในทิศทางทยอยฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ รวมทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรตามการส่งออกทุเรียนไปจีน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามรอบการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐและยุโรป

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย.ลดลงจากหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ ตามราคาเนื้อสุกรและผักสด เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ ส่วนตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น

Advertisment

ขณะที่มองไปข้างหน้า การส่งออกอาจจะยังคงมีการทรงตัว หรืออาจจะติดลบบ้างไปอีกสักระยะ แต่จะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงปลายปีตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย

“ความเสี่ยงที่เราดูมี 3 เรื่องคือ ยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกที่อาจจะผันผวน การจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายที่จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น รวมถึงผลกระทบค่าครองชีพที่ยังอยู่ระดับสูง ซึ่งจะกระทบกลุ่มเปราะบาง” นางสาวชญาวดีกล่าว

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจผู้ประกอบการ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ก.ค. 2566 ปรับลดลงจากเกือบทุกองค์ประกอบ โดยความเชื่อมั่นภาคการผลิตปรับแย่ลงมาอยู่ต่ำกว่า 50 อีกครั้ง จากเกือบทุกหมวดธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตยานยนต์ กลุ่มผลิตเหล็ก รวมถึงกลุ่มผลิตเคมี ปิโตรเลียม ยาง และพลาสติก จากทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านคำสั่งซื้อ การผลิต และผลประกอบการ

ขณะที่ความเชื่อมั่นโดยรวมของภาคที่มิใช่การผลิตปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากเกือบทุกหมวดธุรกิจ ยกเว้นกลุ่มก่อสร้างที่ความเชื่อมั่นลดลงจากเกือบทุกองค์ประกอบ เนื่องจากความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้การพิจารณางบฯลงทุนของรัฐล่าช้าออกไป

Advertisment

“ปัจจัยการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงนั้น ธปท.มองผลกระทบขึ้นกับระยะเวลา ซึ่งจะมีผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณที่อาจจะล่าช้าออกไป โดยงบฯประจำยังเบิกจ่ายได้ แต่งบฯลงทุนจะล่าช้า ซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไปกว่าที่คาดไว้เดิมก็จะมีผลกระทบในแง่ความเชื่อมั่น” นางสาวชญาวดีกล่าว

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมในวันที่ 2 ส.ค.นี้ จะมีการให้ภาพเศรษฐกิจระยะข้างหน้าที่มีรายละเอียดมากขึ้น