
บลจ.อีสท์สปริง เสนอขายกองทุนพันธบัตรมุ่งรักษาเงินต้นรุ่นใหม่ อายุ 6 เดือน โอกาสรับผลตอบแทน 1.75 % ต่อปี ลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท เปิดขายระหว่าง 2-10 ส.ค.นี้
วันที่ 2 สิงหาคม 2566 นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บลจ.อีสท์สปริง กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างเปิดเสนอขายกองทุนเปิดอีสท์สปริง พันธบัตรรัฐมุ่งรักษาเงินต้น 6M3 (ES-GOVCP6M3) อายุ 6 เดือน ซึ่งเป็นกองทุนประเภทเทอมฟันด์ที่มุ่งรักษาเงินต้น โดยผู้ลงทุนจะมีโอกาสได้รับเงินต้นคืน 100% และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหน่วยลงทุน มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท โดยเปิดเสนอขายตั้งแต่วันที่ 2-10 สิงหาคมนี้ ลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท
- EV จีน ทุบราคาเลือดสาด ฉางอาน-กว่างโจวท้ารบ BYD เกทับลดอีกแสน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- รู้จัก น้ำมัน EURO 5 เริ่มใช้ 1 ม.ค. 67 มีผลกับค่าการตลาดน้ำมันอย่างไร
ทั้งนี้ กองทุนเปิดอีสท์สปริง พันธบัตรรัฐมุ่งรักษาเงินต้น 6M3 (ES-GOVCP6M3) มีนโยบายที่จะนำเงินไปลงทุนในตราสารที่มุ่งให้เกิดการรักษาเงินต้น ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ในสัดส่วน 100% โดยคาดหวังผลตอบแทนประมาณ 1.99% ต่อปี หลังจากหักค่าใช้จ่ายประมาณ 0.24% ต่อปีแล้ว คาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับประมาณการผลตอบแทนอยู่ที่ 1.75% ต่อปีของ NAV
กองทุน ES-GOVCP6M3 จะลงทุนครั้งเดียว และถือทรัพย์สินที่ลงทุนจนครบอายุโครงการ (Buy and Hold) โดยบริษัทจะดำเนินการให้มีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนแบบอัตโนมัติ และสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของกองทุนทั้งจำนวนของผู้ถือหน่วยทุกราย ไปยังกองทุนเปิดทหารไทยธนรัฐ หรือกองทุนรวมตลาดเงินอื่นที่บริษัทจัดการเปิดให้บริการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ในวันทำการก่อนวันสิ้นสุดอายุโครงการ

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เนื่องจากสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่โฆษณาไว้ โดยผู้ลงทุนจะไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนในช่วงเวลา 6 เดือน
ดังนั้น หากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก กองทุนอาจไม่ได้รับเงินต้นและผลตอบแทนตามที่คาดหมายไว้ หากผู้ออกตราสารหรือธนาคารที่กองทุนลงทุนไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนได้ และบริษัทจัดการจะสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่ลงทุนหรือสัดส่วนการลงทุนได้ เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องไม่ทำให้ความเสี่ยงของทรัพย์สินที่ลงทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ