บัตรเครดิตชง ธปท.ยืด “ชำระขั้นต่ำ” เล็งเสนอขยับดอกเบี้ยปลายปี

บัตรเครดิต

สมาคมชมรมบัตรเครดิต-แบงก์ ถก ธปท.ขอให้ชะลอปรับมาตรการลดวงเงินชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต เพิ่มจาก 5% เป็น 8% หวั่นกระทบความสามารถการชำระหนี้ของลูกค้า-หนี้เสียขยับขึ้น รวมถึงเตรียมเสนอ ธปท. ขอปรับขึ้นเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงกว่า 16% โอดดอกเบี้ยขาขึ้นทำต้นทุนการเงินพุ่ง-มาร์จิ้นลด ฟาก “ทีทีบี” ประเมินกรณีปรับชำระขั้นต่ำเป็น 8% กระทบลูกค้าต้องจ่ายค่างวดเพิ่มเฉลี่ย 700 บาทต่อเดือน

นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน (GCS) และในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมและผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิต ได้เข้าไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เพื่อขอขยายระยะเวลามาตรการกำหนดอัตราชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 5% ซึ่งจะจบลงในสิ้นปี 2566 และจะกลับไปใช้อัตรา 8% ในปี 2567 และเข้าสู่เกณฑ์ปกติที่อัตรา 10% ภายในปี 2568

เนื่องจากกังวลว่า หากปรับอัตราการชำระขั้นต่ำขึ้นมา จะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยปัจจุบันคนไทยถือบัตรเครดิตเฉลี่ย 3 ใบต่อคน ดังนั้น คาดว่าจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้

อธิศ กรุงศรี
อธิศ กรุงศรี

“สมาคมเข้าใจ ธปท. เนื่องจากมีความต้องการควบคุมระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และมาตรการชำระขั้นต่ำ ถือเป็นมาตรการสุดท้ายของการช่วยเหลือลูกค้าในช่วงการระบาดของโควิด-19 และ มีการขยายการบังคับใช้มาแล้ว 1 ปี

อย่างไรก็ดี เราได้หารือกับ ธปท. ขอให้คงอัตราชำระขั้นต่ำไว้ที่ 5% เพราะมองว่าน่าจะกระทบต่อการชำระหนี้ของลูกค้าที่ยังมีรายได้กลับมาไม่เต็มที่ และอดีตเราเคยเห็นการปรับอัตราการชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 10% มีผลกระทบพอสมควร เห็นการขยับขึ้นของหนี้เสีย”

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ภายในไตรมาส 4/2566 สมาคมจะหารือกับ ธปท. ขอให้ขยับเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจาก 16% ต่อปี เนื่องจากต้นทุนการเงิน (cost of fund) ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากต้นทุนการดำเนินงาน

ซึ่งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (มาร์จิ้น) ค่อนข้างน้อย และรายได้ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการที่มีต้นทุนทางการเงินสูงจะไม่สามารถอยู่ได้

ADVERTISMENT

“ตอนนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตเผชิญและมีความเป็นกังวลมีอยู่ 2 ประเด็นหลัก คือ อัตราการชำระขั้นต่ำ (minimum payment) จาก 5% เป็น 8% ในปีหน้า จะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ และเรื่องของต้นทุนการเงิน cost of fund ที่เพิ่มขึ้น แต่เรามีเพดานดอกเบี้ยที่ 16% ถือว่าต่ำมาก และต่ำเกือบจะที่สุดในโลก”

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากดูผลกระทบลูกค้าบัตรเครดิตจากการปรับอัตราการชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% ในปี 2567 ยอมรับว่ากระทบพอสมควร โดยประเมินว่าลูกค้าบัตรเครดิตที่มีการชำระขั้นต่ำในระบบสถาบันการเงินมีอยู่ประมาณ 20% ส่วนทีทีบีมีราว 8% และเมื่อคำนวณจะพบว่า ลูกค้าจะมีภาระผ่อนชำระเพิ่มเฉลี่ยประมาณ 700 บาทต่อเดือนต่อบัตร

“กรณีลูกค้าที่ถือบัตรจำนวนหลายใบ ภาระจะเพิ่มขึ้น และดูในมิติลูกค้าที่มีภาระผลิตภัณฑ์อื่น เช่น มีภาระกู้บ้าน หรือรถยนต์ เป็นต้น หากมีการปรับเพิ่มชำระขั้นต่ำ อาจจะกระทบการชำระหนี้ในผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้วงเงินในบัตรเครดิตเต็มแล้ว และมีการผ่อนชำระขั้นต่ำ สะท้อนว่ากลุ่มนี้จะค่อนข้างอ่อนไหว”

ฐากร ปิยะพันธ์
ฐากร ปิยะพันธ์

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากมีข่าวว่า ธปท.จะไม่ได้มีการต่อมาตรการชำระขั้นต่ำออกไปอีก ธนาคารก็เริ่มสื่อสารกับลูกค้าไปแล้ว และหากลูกค้ารายใดมีปัญหา ธนาคารก็จะมีมาตรการช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ไว้รองรับ

“เข้าใจว่า ธปท.คงไม่ได้ขยายเวลาแล้ว เราก็เริ่มทยอยคุยและแจ้งลูกค้าในการปรับอัตราชำระขั้นต่ำว่าปีหน้าจะกลับมาเริ่มเก็บในอัตรา 8% ซึ่งยอมรับว่าอาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า และมีผลต่อหนี้เสียขยับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่คงไม่กระชากแรง

เพราะเราเคยมีบทเรียนในอดีตที่มีการปรับจาก 5% เป็น 10% ทำให้ลูกค้าช็อกไปส่วนหนึ่ง ทำให้คราวนี้ ธปท.ทยอยปรับจาก 5% เป็น 8% แล้วค่อยไป 10% เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและกระชากแรงจนเกินไป”

นายฐากรกล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้น สมาคมและสมาชิกได้ขอให้ ธปท.ช่วยพิจารณา เนื่องจากต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการปรับเพิ่มขึ้นพอสมควรจากต้นทุนดอกเบี้ย ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ปรับลดลงจาก 20% เหลือ 16% ต่อปี เนื่องจากขณะนั้นอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยขาขึ้น จึงหวังว่า ธปท.จะช่วยพิจารณา

โดยคาดว่าน่าจะขยับเพดานได้ประมาณ 1-2% แต่เชื่อว่าการพิจารณาจะไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากลูกค้าอาจจะได้รับผลกระทบ 2 เด้ง ทั้งเรื่องการปรับอัตราการชำระขั้นต่ำและการปรับดอกเบี้ย