มีบัตรเครดิต-บัตรเดบิต แตะขึ้นรถไฟฟ้า-ขนส่งสาธารณะได้ สายไหนบ้าง ?

บัตรเดบิต บัตรเครดิต Contactless รถไฟฟ้า ขนส่งสาธารณะ
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 18.12 น.

มีบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ใช้แตะเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า และใช้ระบบขนส่งสาธารณะอื่นได้ทันที รถไฟฟ้าสายไหนรองรับ แล้วรองรับบัตรประเภทใดบ้าง ?

รถไฟฟ้า หนึ่งในการเดินทางที่เชื่อมคนจากทั่วทุกมุมเมือง สู่จุดหมายต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ทั้งศูนย์การค้า ออฟฟิศ ตลาด ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ในพื้นที่ปริมณฑล

ยิ่งในยุคสังคมไร้เงินสด ที่เราสามารถใช้จ่ายได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นแล้ว การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าหรือขนส่งสาธารณะประเภทต่าง ๆ ในปัจจุบันก็สะดวกสบายไม่แพ้กัน เพราะเพียงแค่มีบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ก็สามารถแตะแล้วเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า หรือแตะเพื่อจ่ายค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะได้ในทันที ไม่ต้องซื้อตั๋วโดยสารหรือบัตรเติมเงินก่อน

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูล ระบบขนส่งสาธารณะ-บัตรแบบไหน รองรับบ้าง

รถไฟฟ้า BTS

รถไฟฟ้า BTS ทั้งสายสีเขียวอ่อน (สายสุขุมวิท สถานีคูคต-สถานีเคหะฯ) สายสีเขียวเข้ม (สายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีบางหว้า) และสายสีทอง (สถานีกรุงธนบุรี-สถานีคลองสาน) ไม่รองรับการแตะเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า ด้วยบัตรเดบิต-บัครเครดิตโดยตรง

แต่สามารถใช้วิธีการผูกบัตรแรบบิท (Rabbit Card) เข้ากับกระเป๋า Rabbit Line Pay และผูกบัตรเดบิต-บัตรเครดิต เพื่อหักเงินค่าโดยสารได้ทันที ซึ่งกระเป๋า Rabbit Line Pay รองรับบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ทั้ง วีซ่า (Visa), มาสเตอร์การ์ด (Mastercard), เจซีบี (JCB) และบัตรเดบิต Thai Payment Network (TPN) ของธนาคารกรุงเทพ

รถไฟฟ้า MRT

รถไฟฟ้า MRT ทั้ง 4 สาย คือ

  • MRT สายสีน้ำเงิน (สถานีหัวลำโพง-สถานีบางซื่อ และส่วนต่อขยาย สถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง)
  • MRT สายสีม่วง (สถานีเตาปูน-สถานีคลองบางไผ่)
  • MRT สายสีเหลือง (สถานีลาดพร้าว-สถานีสำโรง)
  • MRT สายสีชมพู (สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี-สถานีมีนบุรี)

รองรับการใช้งานทั้งบัตรเครดิต วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ของทุกธนาคารผู้ออกบัตร และรองรับบัตรเดบิต ซึ่งขณะนี้รองรับเฉพาะบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี (รวมบัตรเดบิต UOB TMRW)

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้บัตรพรีเพด (Prepaid Card) หรือบัตรทราเวลการ์ด (Travel Card) ที่คุ้นเคยกัน เพื่อเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า MRT ได้เช่นเดียวกัน โดยสามารถใช้ได้ทุกธนาคาร เช่นเดียวกับบัตรเครดิต

อีกทั้งรถไฟฟ้า MRT สายอื่น ๆ ที่กำลังจะเปิดในอนาคต จะรองรับการใช้งานบัตรเดบิต และบัตรเครดิต สำหรับการแตะเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

รถไฟฟ้าสายสีแดง

รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทั้งสายสีแดงเข้ม (สถานีบางซื่อ-สถานีรังสิต) และสายสีแดงอ่อน (สถานีบางซื่อ-สถานีตลิ่งชัน) รองรับการแตะบัตร ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด ในการเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้ทันที

โดยการใช้งานบัตรทั้ง 3 ประเภท เพื่อเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าจะต้องเป็นบัตร วีซ่า (Visa), มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) เจซีบี (JCB) และยูเนี่ยนเพย์ (UnionPay) ซึ่งสามารถใช้งานได้ทุกธนาคาร

บัตรเครดิต-บัตรเดบิต มีส่วนลดค่าแรกเข้า

ผู้ใช้บัตรเครดิต และบัตรเดบิต EMV Contactless ที่สามารถแตะเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าได้ตามเงื่อนไข จะได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า เมื่อเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้า MRT ทั้ง 4 สาย โดยอัตราส่วนลดค่าแรกเข้า จะแตกต่างกัน ดังนี้

จาก ไป ส่วนลดค่าแรกเข้า
MRT สายสีน้ำเงิน MRT สายสีม่วง 14 บาท
MRT สายสีม่วง MRT สายสีน้ำเงิน 14 บาท
MRT สายสีน้ำเงิน MRT สายสีเหลือง 15 บาท
MRT สายสีเหลือง MRT สายสีน้ำเงิน 14 บาท
MRT สายสีม่วง MRT สายสีชมพู 13 บาท
MRT สายสีชมพู MRT สายสีม่วง 14 บาท

 

หากเดินทางเชื่อมรถไฟฟ้า MRT 3 สายต่อกัน คือ สายสีน้ำเงิน สายสีเหลือง และสายสีม่วง มีส่วนลดค่าแรกเข้า ดังนี้

  • MRT สายสีเหลือง -> MRT สายสีน้ำเงิน -> MRT สายสีม่วง = ส่วนลดค่าแรกเข้า 28 บาท
  • MRT สายสีม่วง -> MRT สายสีน้ำเงิน -> MRT สายสีเหลือง = ส่วนลดค่าแรกเข้า 29 บาท

ทั้งนี้ สำหรับรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง และสายสีชมพู มีเงื่อนไข ดังนี้

MRT สายสีน้ำเงิน-สายสีเหลือง

เมื่อมีการเดินทางข้ามสายระหว่าง สีน้ำเงิน-สีเหลือง ที่สถานีลาดพร้าวจะได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า ตามเงื่อนไข ดังนี้

  • ผู้โดยสารที่เดินทางออกจากระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน สถานีลาดพร้าว (BL15) และใช้บัตร EMV ใบเดียวกัน เดินทางเข้าระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง สถานีลาดพร้าว (YL01) ภายใน 30 นาที จะได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า (15 บาท)
  • ค่าโดยสารจะถูกหักจากบัตรตามปกติของแต่ละสายนั้นๆก่อนในวันที่ใช้เดินทาง แต่จะได้รับเงินคืนภายหลังจากวันที่ใช้บัตรไปอีก 3 วัน (T+3) หรือไม่เกิน 7 วันทำการ (ขึ้นอยู่กับธนาคารเจ้าของบัตรนั้น ๆ)
  • เงื่อนไขการใช้ เป็นตามเอกสารแนบท้ายประกาศ เรื่อง เงื่อนไขการใช้งานตั๋วโดยสารประเภทบัตร EMV Contactless ของ เงื่อนไขการออกตั๋วโดยสาร รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง

MRT สายสีม่วง-สายสีชมพู

เมื่อมีการเดินทางข้ามสายระหว่าง สีม่วง-สีชมพู ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี จะได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า ตามเงื่อนไข ดังนี้

  • ผู้โดยสารที่เดินทางออกจากระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PP11) และใช้บัตร EMV ใบเดียวกัน เดินทางเข้าระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ภายใน 30 นาที จะได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า (15 บาท)
  • ค่าโดยสารจะถูกหักจากบัตรตามปกติของแต่ละสายนั้นๆก่อนในวันที่ใช้เดินทาง แต่จะได้รับเงินคืนภายหลังจากวันที่ใช้บัตรไปอีก 3 วัน (T+3) หรือไม่เกิน 7 วันทำการ (ขึ้นอยู่กับธนาคารเจ้าของบัตรนั้น ๆ)
  • เงื่อนไขการใช้ เป็นตามเอกสารแนบท้ายประกาศ เรื่อง เงื่อนไขการใช้งานตั๋วโดยสารประเภทบัตร EMV Contactless ของ เงื่อนไขการออกตั๋วโดยสาร รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู

ระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ที่รองรับ

นอกจากรถไฟฟ้าทั้ง 3 ระบบที่กล่าวมาแล้ว บัตรเครดิตและบัตรเดบิต ยังสามารถแตะเพื่อใช้งานระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ได้ ทั้งรถเมล์ของ ขสมก. รถ บขส. (ไม่รวมรถร่วมเอกชน) และรถเมล์โดยสารในพื้นที่ต่างจังหวัดที่เปิดให้บริการชำระเงินแบบ Cashless (เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา) โดยรถเมล์ ขสมก. และรถเมล์อื่น ๆ ที่รับชำระ สามารถแตะเพื่อจ่ายค่าโดยสารได้ทันที ส่วนรถ บขส.สามารถใช้บัตรเพื่อจ่ายค่าโดยสารได้ที่จุดจำหน่ายตั๋ว

รวมถึงผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์และใช้ทางด่วนเป็นประจำ สามารถใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตจ่ายค่าผ่านทางได้ทันที โดยรองรับทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM) และบริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ดังนี้

  • ทางพิเศษเฉลิมมหานคร
  • ทางพิเศษศรีรัช
  • ทางพิเศษบูรพาวิถี
  • ทางพิเศษอุดรรัถยา
  • ทางพิเศษบางนา-อาจณรงค์
  • ทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์
  • ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก
  • ทางพิเศษเฉลิมมหานคร
  • ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์)

สำหรับการหักค่าใช้จ่าย เมื่อจ่ายค่าโดยสาร/่ค่าผ่านทางด้วยบัตรต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่จะหักเงินในทันทีที่แตะออกจากระบบรถไฟฟ้า หรือหักทันทีที่แตะ ณ ด่านผ่านทางพิเศษ ยกเว้นกรณีรถไฟฟ้า MRT ที่จะหักในช่วงประมาณ 02.00 น. วันถัดไป โดยเป็นการหักค่าโดยสารแบบรวมยอดค่าโดยสารที่เกิดขึ้นในวันนั้น