รฟม. ผนึก KTB-BEM เริ่มทดลองระบบตั๋วร่วม MRT แบบไร้สัมผัส

MRT ต่อเวลาตั๋วเที่ยว
ภาพจากเฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro

รฟม. ร่วมกับ KTB และ BEM พัฒนาระบบชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT แบบไร้สัมผัสด้วยเทคโนโลยี “EMV Contactless” เปิดทดลองใช้บริการ 29 มกราคมนี้ ชีวิตสบาย แตะ-จ่าย ด้วยบัตรใบเดียว

วันพุธที่ 26 มกราคม 2565 รายงานข่าวจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า ได้ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM พัฒนาระบบชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้การสัมผัส หรือระบบ “EMV Contactless” เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด โดยมีกำหนดจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในวันที่ 29 มกราคม 2565

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ตามที่ รฟม. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน นั้น รฟม. ได้ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย และ BEM ในการนำเทคโนโลยีแบบไร้การสัมผัส หรือ EMV Contactless มาใช้กับระบบตั๋วร่วม ในรูปแบบการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน

โดยธนาคารกรุงไทยดำเนินการพัฒนาระบบชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า และ BEM ดำเนินการปรับปรุงและติดตั้งระบบที่ประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT ทั้งสองสาย ซึ่ง รฟม. ได้ติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานดังกล่าวให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและมีความพร้อมในการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการระบบในวันที่ 29 มกราคม 2565 นี้

ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ทำให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางสาธารณะหรือบริการอื่นๆ ได้ด้วยบัตรเพียงใบเดียว ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society / Smart City) และการเตรียมความพร้อมประเทศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต ตลอดจนทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้ง่ายและทั่วถึง เพื่อให้ใช้บริการต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการรองรับสถานการณ์และการปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในรูปแบบ New Normal ช่วยลดการสัมผัสในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักถึงความสำคัญของระบบคมนาคมขนส่งของประเทศที่เป็นกิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงทุกวิถีการใช้ชีวิต นำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ธนาคารจึงได้วางยุทธศาสตร์โดยกำหนดให้การคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งมวลชนเป็น 1 ใน 5 ระบบนิเวศหลัก(Ecosystems) ที่ธนาคารมุ่งเน้นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนายกระดับการบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ประชาชน และในอนาคตมีแผนเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งมวลชนอื่น เพื่อการบูรณาการตั๋วร่วมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อขานรับนโยบายรัฐบาล BEM จึงได้เร่งดำเนินการปรับปรุงและติดตั้งระบบที่ประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติภายในสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงเพื่อรองรับการชำระค่าโดยสารผ่านบัตร EMV Contactless ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความ สะดวก รวดเร็วให้กับผู้โดยสาร โดย BEM ได้มีการจัดหาระบบและติดตั้งหัวอ่านบริเวณประตูอัตโนมัติ พร้อมทั้งปรับปรุงอุปกรณ์ และระบบ network เพื่อให้รองรับการใช้บัตร EMV Contactless รวมทั้งสิ้น 53 สถานี และจัดให้มีการฝึกอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้อง

โดยระบบพร้อมเปิดให้ทดลองใช้ EMV Contactless ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2565 ซึ่งผู้โดยสารสามารถเดินทางโดยใช้บัตรเครดิต วีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ดของธนาคารทุกธนาคาร โดยไม่ต้องลงทะเบียน ซึ่งภายในปลายปี 2565 BEM จะขยายการบริการให้ครอบคลุมโดยสามารถรองรับการใช้บัตรเดบิตและบัตรประเภทอื่นๆ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสาร ให้ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีผู้โดยสารกว่า 2 แสนคนต่อวัน และรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีผู้โดยสารกว่า 3.7 หมื่นคนต่อวัน

ทั้งนี้ Europay Mastercard and Visa หรือ EMV คือ มาตรฐานทางการชำระเงินที่ปลอดภัยและ ใช้กันทั่วโลกมากกว่า 80 ประเทศ บัตร EMV เป็นบัตรชำระเงินอัจฉริยะ (บัตรชิป หรือ บัตร IC) ที่เก็บรักษาข้อมูลไว้ในแผงวงจร (Integrated Circuits – IC) แทนแถบแม่เหล็ก ซึ่งจะสร้างข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่ทำธุรกรรม การคัดลอกหรือปลอมแปลงบัตร จึงเป็นไปได้ยาก การทำธุรกรรมด้วยระบบชิปจึงมีความปลอดภัยสูงสุด พร้อมลดความเสี่ยงด้านการทุจริต