รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดเต็มรูปแบบ 1 ก.พ. 67 เปิดกี่โมง ค่าโดยสารเท่าไร

รถไฟฟ้าสายสีชมพู MRT สายสีชมพู น้องนมเย็น ขบวนรถ
ภาพจาก กรมการขนส่งทางราง

รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เช็กข้อมูลการให้บริการ เปิดกี่โมง แต่ละขบวนให้บริการทุกนาที ค่าโดยสารเท่าไร

ตามที่ กระทรวงคมนาคม และ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ตรวจความพร้อมการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู หลังต้องซ่อมแซมรางจ่ายกระแสไฟฟ้า

จากเหตุการณ์รางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor Rail) หลุดร่วงจากทางวิ่ง บริเวณสถาบันโรคทรวงอก ใกล้สถานีแคราย จนถึงบริเวณ Pocket Track ก่อนถึงสถานีกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยล่าสุด ได้มีการตรวจเช็กและพร้อมให้บริการครบทั้ง 30 สถานีอย่างเต็มรูปแบบแล้ว โดยจะให้บริการตามปกติครบทุกสถานี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ดังนี้

รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดให้บริการกี่โมง ?

รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 06.00-00.00 น.

รถไฟฟ้าสายสีชมพู 1 ขบวน ให้บริการทุกกี่นาที ?

รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีความถี่การให้บริการ ดังนี้

ช่วงเวลาเร่งด่วน (วันจันทร์-ศุกร์ เฉพาะวันทำการ) ให้บริการทุก 5 นาที

  • เวลา 06.30-08.30 น.
  • เวลา 16.30-19.30 น.

หลังช่วงเวลาเร่งด่วน ให้บริการทุก 10 นาที

  • วันเสาร์-อาทิตย์
  • วันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู อยู่ที่เท่าไร ?

อัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู ตามประกาศข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู พ.ศ. 2566 กำหนดให้อัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู อยู่ที่ 15-45 บาท ขึ้นกับระยะทางของแต่ละสถานี

โดยอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะแบ่งเป็น ค่าแรกเข้า 15 บาท และบวกเพิ่มตามระยะทางที่โดยสาร ดังนี้

  • เดินทาง 2 สถานี 17-21 บาท
  • เดินทาง 3 สถานี 21-25 บาท
  • เดินทาง 4 สถานี 23-29 บาท
  • เดินทาง 5 สถานี 26-32 บาท
  • เดินทาง 6 สถานี 28-36 บาท
  • เดินทาง 7 สถานี 30-39 บาท
  • เดินทาง 8 สถานี 36-42 บาท
  • เดินทาง 9 สถานี 39-45 บาท
  • เดินทาง 10 สถานี 41-45 บาท
  • เดินทาง 12 สถานี 44-45 บาท
  • เดินทาง 13 สถานีขึ้นไป 45 บาท

ทั้งนี้ ค่าโดยสารดังกล่าว เฉพาะสถานีหลัก 30 สถานี ยังไม่รวมส่วนต่อขยายเมืองทองธานี 2 สถานี โดยสามารถตรวจสอบค่าโดยสารแต่ละสถานีต้นทาง-ปลายทางได้ตามตารางข้างล่างนี้

ตารางค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ภาพจาก NBM)

รถไฟฟ้าสายสีชมพู ใช้บัตรโดยสารแบบไหน ?

รถไฟฟ้าสายสีชมพู รองรับการใช้บัตรโดยสารดังนี้

  • บัตรโดยสารเที่ยวเดียว
  • บัตรแรบบิท
  • บัตร EMV Contactless
    • บัตรเครดิต VISA-Mastercard ของทุกธนาคาร
    • บัตรเดบิตธนาคารกรุงไทย-ธนาคารยูโอบี (รวมถึงบัตรเดบิต TMRW)

ใช้บัตร EMV ได้ส่วนลดค่าแรกเข้า

สำหรับผู้ใช้บัตร EMV Contactless หรือบัตรเครดิต VISA-Mastercard ของทุกธนาคาร และบัตรเดบิตธนาคารกรุงไทย-ธนาคารยูโอบี จะได้ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบ เมื่อใช้บัตร EMV ใบเดียวกัน เข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยจะต้องเปลี่ยนระบบที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ภายในเวลา 30 นาที และได้รับส่วนลดดังนี้

  • ส่วนลด 13 บาท เมื่อเปลี่ยนระบบจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง (ฉลองรัชธรรม) ไปรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู
  • ส่วนลด 14 บาท เมื่อเปลี่ยนระบบจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ไปรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง (ฉลองรัชธรรม)

ทั้งนี้ กรณีเปลี่ยนสายไปรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่ได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า และกรณีเปลี่ยนสายจากรถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีแดง หากใช้งานบัตร EMV Contactless จะต้องแตะออกจากระบบรถไฟฟ้าสายสีชมพูก่อน เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังไม่รองรับการใช้งานบัตร EMV Contactless

ใช้บัตรเที่ยวเดียว-บัตรแรบบิท เชื่อมสายสีเขียว ไม่ต้องแตะออก

ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู สามารถใช้บัตรโดยสารที่เข้าเงื่อนไข เพื่อใช้ทางเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว-รถไฟฟ้าสายสีชมพู เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ทันที ดังนี้

  • ผู้ใช้บัตรแรบบิท (Rabbit Card) สามารถเดินไปยังทางเชื่อมเพื่อเปลี่ยนชานชาลา และแตะบัตรที่สถานีปลายทางได้ โดยไม่ต้องออกจากระบบหนึ่ง เพื่อเข้าสู่อีกระบบหนึ่ง
  • ผู้ใช้บัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียว (Single Journey Card : SJC) สามารถใช้บัตรดังกล่าวเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า ระหว่างสายสีเขียว-สีชมพูได้ โดยสามารถซื้อผ่านตู้จำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติและเลือกสถานีปลายทางที่ต้องการได้ ซึ่งระบบจะคิดค่าโดยสารตามระยะทาง

ขณะที่ผู้โดยสารที่ใช้บัตร EMV Contactless หรือบัตรเครดิตวีซ่า-มาสเตอร์การ์ดของทุกธนาคาร รวมถึงบัตรเดบิตธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี จำเป็นต้องแตะออกจากระบบรถไฟฟ้าสายสีชมพูก่อน แล้วใช้บัตรแรบบิทหรือซื้อบัตรโดยสารเที่ยวเดียวใบใหม่ เพื่อใช้งานระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากปัจจุบันยังไม่รองรับการใช้งาน EMV Contactless

รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีสถานีอะไรบ้าง ?

รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีทั้งหมด 30 สถานี ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และพื้นที่กรุงเทพมหานคร โซนตะวันออก

PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี : วัดบัวขวัญ ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลแขวงนนทบุรี ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี ศาลแรงงานกลาง (นนทบุรี) ศาลากลางเก่า วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีจังหวัดนนทบุรี เกาะเกร็ด กระทรวงสาธารณสุข โรงแรมไมด้า ห้างเอสพานาด

PK02 สถานีแคราย : สถาบันทรวงอก

PK03 สถานีสนามบินน้ำ : ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ใกล้กับสามแยกสนามบินน้ำ

PK04 สถานีสามัคคี

PK05 สถานีกรมชลประทาน

PK07 สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด : บิ๊กซี แจ้งวัฒนะ 2, โฮมโปร แจ้งวัฒนะ

PK08 สถานีปากเกร็ด-แจ้งวัฒนะ 28 : อาคารซอฟต์แวร์พาร์ค, กองดุริยางค์ตำรวจ, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

PK09 สถานีศรีรัช : หมู่บ้านเมืองทองธานี

PK10 สถานีเมืองทองธานี : สำนักงานซ่อมบำรุงกรมทางหลวง-ห้างแม็คโครซูเปอร์สโตร์ สาขาแจ้งวัฒนะ

PK11 สถานีแจ้งวัฒนะ 14 : บิ๊กซี แจ้งวัฒนะ 1

PK12 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ : ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถ.แจ้งวัฒนะ, กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักงาน กสทช. ภาค 1, ศาลปกครองสูงสุด

PK13 สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ : บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพ), อาคาร ณ นคร

PK14 สถานีหลักสี่ : ศูนย์การค้าไอที สแควร์, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์, วัดหลักสี่, โรงเรียนวัดหลักสี่

PK15 สถานีราชภัฏพระนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

PK16 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ : วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร, สถานีตำรวจนครบาลบางเขน, สวนรักษ์ธรรมชาติ, ที่ทำการไปรษณีย์รามอินทรา, มหาวิทยาลัยเกริก

PK17 สถานีรามอินทรา 3 : โครงการลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่, ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก และสนามมวยลุมพินี, เซ็นทรัล รามอินทรา

PK18 สถานีลาดปลาเค้า : บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า รามอินทรา

PK19 สถานีรามอินทรา กม.4

PK20 สถานีมัยลาภ

PK21 สถานีวัชรพล : ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา

PK22 สถานีรามอินทรา กม.6

PK23 สถานีคู้บอน

PK24 สถานีรามอินทรา กม.9 : โรงพยาบาลสินแพทย์

PK25 สถานีวงแหวนรามอินทรา : ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade, สถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 8, สนามกอล์ฟปัญญาอินทรา

PK26 สถานีนพรัตน์ : โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี, อมอรินี่ รามอินทรา

PK27 สถานีบางชัน

PK28 สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ : โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ

PK29 สถานีตลาดมีนบุรี : ตลาดมีนบุรี, ตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี

PK30 สถานีมีนบุรี : ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีชมพู, จุดจอดแล้วจร (Park and ride), บิ๊กซี ร่มเกล้า, ไทวัสดุ สุขาภิบาล 3, โลตัส สุขาภิบาล 3, เคหะรามคำแหง

รถไฟฟ้าสายสีชมพูเชื่อมสายสีอะไรบ้าง

มีจุดเชื่อมต่อที่สามารถเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างรถไฟฟ้าสายอื่นได้ 4 จุด มีรายละเอียดดังนี้

  • PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ
  • PK14 สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต
  • PK16 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
  • PK30 สถานีมีนบุรี สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง