ราชกิจจาฯ ประกาศค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู เริ่มต้น 15-45 บาท

ราชกิจจานุเบกษาฯ-ประกาศราชกิจจาฯ

ราชกิจจานุเบกษาประกาศแล้ว อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู เริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท

วันที่ 2 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา ประกาศข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู พ.ศ. 2566

ประกาศระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู พ.ศ. 2566”

ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

ข้อ 3 ในข้อบังคับนี้

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

“เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุไม่เกินสิบสี่ปีบริบูรณ์

“ตั๋วโดยสาร” หมายความว่า บัตร เอกสาร วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสิ่งอื่นใดที่ใช้แสดงถึงสิทธิเพื่อใช้บริการโดยสารรถไฟฟ้า

“บริเวณที่มีการใช้ตั๋วโดยสาร” หมายความว่า พื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้าส่วนที่คนโดยสารได้ผ่านการตรวจตั๋วโดยสารแล้ว

“การเปลี่ยนถ่ายระบบ” หมายความว่า การเปลี่ยนเส้นทางรถไฟฟ้าจากสายหนึ่งไปอีกสายหนึ่ง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยที่สถานีเปลี่ยนถ่ายระบบ โดยใช้ตั๋วโดยสารเดียวกัน

“สถานีเปลี่ยนถ่ายระบบ” หมายความว่า สถานีรถไฟฟ้าซึ่งคนโดยสารเปลี่ยนถ่ายระบบ

“ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบ” หมายความว่า ส่วนลดค่าโดยสารในกรณีที่มีการเปลี่ยนถ่ายระบบ

ข้อ 4 ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ให้เป็นไปตามอัตราค่าโดยสารท้ายข้อบังคับนี้

ข้อ 5 ค่าโดยสารของบุคคลซึ่งมีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย  ให้มีอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราค่าโดยสารตามข้อ 4 ทั้งนี้ ในกรณีมีเศษไม่เต็มจำนวนบาท ให้ปรับเศษดังกล่าวเต็มจำนวนบาท

ข้อ 6 ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดเส้นทางรถไฟฟ้าและสถานีเปลี่ยนถ่ายระบบสำหรับการเปลี่ยนถ่ายระบบจากรถไฟฟ้าสายอื่นมายังรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยให้คนโดยสารได้รับส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบภายใต้หลักการการจัดเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว

ในกรณีที่สถานีเปลี่ยนถ่ายระบบมีบริเวณที่มีการใช้ตั๋วโดยสารของเส้นทางรถไฟฟ้าแต่ละสายแยกจากกัน ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดระยะเวลาสูงสุดสำหรับการเปลี่ยนถ่ายระบบดังกล่าว

ข้อ 7 ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ให้เริ่มคิดตั้งแต่คนโดยสารได้ผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีการใช้ตั๋วโดยสารแล้ว

ข้อ 8 วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ให้กระทำโดยตั๋วโดยสาร หรือวิธีการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

ข้อ 9 ให้ยกเว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู แก่บุคคล ดังต่อไปนี้
(1) เด็กซึ่งมีความสูงไม่เกินเก้าสิบเซนติเมตร
(2) คนพิการ โดยคนพิการดังกล่าวต้องแสดงบัตรประจำตัวคนพิการที่ทางราชการออกให้ก่อนใช้บริการ

ข้อ 10 คณะกรรมการอาจประกาศกำหนดผลิตภัณฑ์ของตั๋วโดยสารที่มีอัตราค่าโดยสารต่ำกว่าอัตราค่าโดยสารตามที่กำหนดในข้อ 4 เช่น ตั๋วรายเดือน ตั๋วเป็นชุด ตั๋วราคาพิเศษ หรือยกเว้นอัตราค่าโดยสารตามที่กำหนดในข้อ 4 เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนโดยสาร เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดก็ได้

ข้อ 11 คณะกรรมการอาจประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ต่ำกว่าอัตราค่าโดยสาร หรือยกเว้นอัตราค่าโดยสารตามที่กำหนดในข้อ 1 ได้เป็นครั้งคราว เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล หรือในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ประกาศ ณ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566

สราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

สำหรับอัตราค่าโดยสาร      รถไฟฟ้าสายสีชมพู ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท โดยอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะไม่เท่ากันในแต่ละสถานี ซึ่งเป็นไปตามตารางด้านล่างนี้

ก่อนหน้านี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) รฟม. และ NBM มีความเห็นร่วมกันว่าจะขยายระยะเวลาการเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จากเดิม 2 มกราคม 2567 เป็นวันที่ 6 มกราคม 2567

ทั้งนี้ ในวันที่ 7 มกราคม 2567 จะเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่สถานีกรมชลประทาน (PK05) ถึงสถานีมีนบุรี (PK30) และยกเว้นการเก็บค่าโดยสารในส่วนของสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึงสถานีสามัคคี (PK04) จำนวน 4 สถานี จนกว่าจะดำเนินการแก้ไขรางจ่ายไฟแล้วเสร็จ โดยระหว่างนี้จะลดอัตราค่าโดยสารลง 15% จากอัตราปกติ ซึ่งจะมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 13-38 บาท เพื่อคงไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ

สำหรับการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบนั้น กระทรวงคมนาคมจะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยจะแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบต่อไป