รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดทางการ 3 ก.ค. 66 เช็กรายละเอียดค่าโดยสาร

รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีเหลือง ขนส่งสาธารณะ
อัพเดตล่าสุด ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เวลา 07.06 น.

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดบริการอย่างเป็นทางการแล้ว วันนี้ (3 ก.ค. 2566) รฟม.-EBM เผยอัตราค่าโดยสาร 15-45 บาท จอดรถยนต์แล้วเดินทางต่อด้วย “สายสีเหลือง” คิดค่าจอดชั่วโมงละ 5-15 บาท

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง เปิดเผย ว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง เตรียมจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ทั้ง 23 สถานี จากสถานีลาดพร้าว ถึงสถานีสำโรง ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท

โดยรูปแบบอัตราค่าโดยสารจะเป็นดังนี้

  • เดินทาง 2 สถานี 18-21 บาท
  • เดินทาง 3 สถานี 22-24 บาท
  • เดินทาง 4 สถานี 24-28 บาท
  • เดินทาง 5 สถานี 27-32 บาท
  • เดินทาง 6 สถานี 30-36 บาท
  • เดินทาง 7 สถานี 33-40 บาท
  • เดินทาง 8 สถานี 38-43 บาท
  • เดินทาง 9 สถานี 42-45 บาท
  • เดินทาง 10 สถานีขึ้นไป 45 บาท

ผู้โดยสารสามารถชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ได้ 3 วิธี ดังนี้

  • บัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียว (Single Journey Card) โดยออกบัตรได้ที่เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ภายในสถานี ทั้งนี้ กรณีผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถนำบัตรประชาชนติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อออกบัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียว ได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร
  • บัตรแรบบิท (บัตรโดยสารประเภทเติมเงิน)
  • บัตร EMV Contactless โดยใช้บัตรเครดิตวีซ่า (VISA) หรือมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ของธนาคารใดก็ได้ รวมถึงบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย บัตรเดบิตของธนาคารยูโอบี และบัตรเดบิต Play Card ของ เป๋าตังเปย์ (Paotang Pay) บนแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่มีสัญลักษณ์ Contactless Payment บนหน้าบัตรหรือหลังบัตร

สำหรับผู้ใช้บัตร EMV Contactless สามารถแตะเข้า-แตะออกระบบรถไฟฟ้าที่จุดให้บริการเครื่อง EDC บริเวณประตูพิเศษ (Swing Gate) โดยมีแผนจะขยายจุดให้บริการเพิ่มเติมให้ครบทุกประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC Gate) ในลำดับถัดไป

ซึ่งผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง-MRT สายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ที่สถานีลาดพร้าว และชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ใบเดียวกัน จะได้รับส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบ หากเดินทางเชื่อมต่อภายในระยะเวลา 30 นาที

พร้อมกันนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ได้เตรียมออกบูทบริการให้คำแนะนำเกี่ยวกับบัตร EMV Contactless และรับสมัครบัตรเดบิต Krungthai TranXit Debit Card และบัตรเดบิต UOB TMRW ที่สถานีลาดพร้าว (YL01) ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นี้

สำหรับการจอดรถยนต์เพื่อเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ผู้โดยสารยังสามารถนำรถยนต์มาจอดและเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ได้ที่อาคารจอดรถสถานีลาดพร้าว และอาคารจอดรถสถานีศรีเอี่ยม โดยคิดอัตราค่าจอดรถสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ดังนี้

  • อาคารจอดรถสถานีลาดพร้าว คิดอัตราค่าจอดรถยนต์ 2 ชั่วโมง 15 บาท (กรณีไม่ใช้บริการรถไฟฟ้า ชั่วโมงละ 50 บาท)
  • อาคารจอดรถสถานีศรีเอี่ยม คิดอัตราค่าจอดรถยนต์ ชั่วโมงละ 5 บาท (กรณีไม่ใช้บริการรถไฟฟ้า ชั่วโมงละ 20 บาท)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา นอกจากการอนุมัติอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแล้ว ยังมีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับ รฟม. อีก 4 ฉบับ ที่เกี่ยวกับอัตราค่าแรกเข้าเมื่อเปลี่ยนสายรถไฟฟ้า และอัตราค่าจอดรถในพื้นที่จอดรถของ รฟม. ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ยังคงเดิม