BITE SIZE : รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางเชื่อมสู่กรุงเทพฯ ตะวันออก

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ เริ่มทดลองเดินทางฟรีด้วย “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” และมีการกล่าวถึงรถไฟฟ้าสายนี้เป็นอย่างมาก ในฐานะที่เป็นรถไฟฟ้าสายใหม่ของกรุงเทพฯ

โดยเส้นทางสายนี้ เป็นหนึ่งในรถไฟฟ้าสายสำคัญที่เชื่อมการเดินทางของคนกรุงเทพฯ จากย่านบางกะปิ-หัวหมาก-ศรีนครินทร์ จนถึงสำโรง รวม 23 สถานี และเป็นระบบขนส่งที่ทะลวงปัญหาการจราจร ที่ติดขัดสะสมมานานกว่า 2 ทศวรรษ จนคนกรุงเทพฯ เคยเรียกย่านลำสาลีว่า “ลำสาหัส” มาแล้ว

รู้จัก “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง”

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เริ่มต้นดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550-2554 เดิมแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงรัชดา/ลาดพร้าว-พัฒนาการ และช่วงพัฒนาการ-สำโรง และกลายมาเป็น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มทดลองให้บริการแล้ว ตั้งแต่ 3 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีทั้งหมด 23 สถานี ระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 51,810 ล้านบาท โดยรถไฟฟ้าสายนี้ ครอบคลุมพื้นที่สำคัญ โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก เริ่มต้นจากสถานีลาดพร้าว เชื่อมต่อไปยัง หัวหมาก บางกะปิ ลำสาลี พัฒนาการ ศรีนครินทร์ จนไปสิ้นสุดสายที่สำโรง จ.สมุทรปราการ

นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เป็นรถไฟฟ้าสายแรก ๆ ของไทย ที่เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ขณะที่ผู้ใช้บริการหลายคนให้ชื่อเล่นกับขบวนรถไฟฟ้าสายนี้แล้วว่า “น้องเก๊กฮวย” มาจากสีเหลืองที่น่ารัก ซึ่งเป็นสีของสายรถไฟฟ้า และขบวนรถไฟฟ้า

ภาพจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

รถไฟฟ้าเชื่อมชีวิต คนกรุงเทพฯ ตะวันออก

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เชื่อมการเดินทางสู่พื้นที่สำคัญ โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ หมู่บ้านจัดสรร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กำลังปรับโฉมรับการมาของรถไฟฟ้าสายนี้ อาทิ

  • สถานีบางกะปิ : สถานีดังกล่าว มี “เดอะมอลล์ บางกะปิ” ที่กำลังปรับโฉมใหม่เป็น เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ เปิดให้บริการเป็นทางการในปลายปี 2566 และพื้นที่ใกล้ ๆ กันยังมีห้างตะวันนา และห้างอื่น ๆ รวมถึง แฮปปี้แลนด์ เซ็นเตอร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพื้นที่การค้าที่อยู่คู่ย่านบางกะปิมาอย่างยาวนาน
  • สถานีกลันตัน : สถานีดังกล่าว มี “ธัญญาพาร์ค” ศูนย์การค้าสีเขียว ของกลุ่มธนิยะ
  • สถานีสวนหลวง ร.9 : สถานีดังกล่าว มีห้างใหญ่ถึง 2 ห้าง คือ ซีคอนสแควร์ และพาราไดซ์ พาร์ค รวมถึงตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์ ซึ่งอยู่ใกล้กับซีคอนสแควร์

นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ยังเชื่อมการเดินทางรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ตั้งแต่สถานีลาดพร้าว เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีหัวหมาก เชื่อมรถไฟฟ้า Airport Rail Link และรถไฟทางไกลสายตะวันออก ที่สถานีรถไฟหัวหมาก และสถานีสำโรง ซึ่งเป็นปลายสายของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เชื่อมรถไฟฟ้า BTS สถานีสำโรง

นอกจากนี้ ยังมีรถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกในอนาคต อย่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่จะเชื่อมต่อกับสายสีเหลืองที่สถานีแยกลำสาลี

3 กรกฎาคม 2566 เปิดบริการเต็มรูปแบบ

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดให้บริการแล้ว 22 จาก 23 สถานี ตั้งแต่สถานีภาวนา จนถึงสถานีสำโรง และเปิดให้ทดลองใช้ ตั้งแต่ 06.00-20.00 น. (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2566)

และตั้งแต่ 19 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป จะเปิดทดลองใช้สถานีลาดพร้าว ซึ่งเป็นสถานีต้นสายของรถไฟฟ้าสายนี้ และเป็นการเริ่มต้นทดลองให้บริการทั้งระบบ ครบ 23 สถานี จากนั้นจะทยอยขยายเวลาทดลองให้บริการ

จนกระทั่งวันเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ จะเปิดให้บริการตามเวลาให้บริการรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ คือ 06.00-24.00 น. ของทุกวัน และเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งเบื้องต้นมีข้อมูลว่า อัตราค่าโดยสารจะอยู่ที่ 15-45 บาท ทั้งนี้ ต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงเริ่มให้บริการเต็มรูปแบบ

ขณะที่บัตรโดยสารสำหรับการเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สามารถใช้ได้ทั้งบัตรแรบบิท (Rabbit Card), ซื้อตั๋วเที่ยวเดียว หรือใช้บัตรเครดิต-บัตรเดบิต วีซ่า และมาสเตอร์การ์ด ที่มีสัญลักษณ์คอนแทคเลส (Contactless) ก็ได้ ซึ่งบัตรเครดิตสามารถใช้ได้ทุกธนาคาร ส่วนบัตรเดบิต ณ วันนี้ ยังสามารถใช้ได้แค่ธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี (รวมบัตรเดบิต TMRW)

ส่วนค่าแรกเข้าที่เป็นหนึ่งในความกังวลของผู้คนสำหรับการจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าแต่ละครั้งนั้น ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการการขนส่งทางราง อธิบายว่า การชำระค่าโดยสารด้วยการใช้บัตร EMV จะเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการลดภาระค่าใช้จ่ายจากค่าแรกเข้า หากต้องเปลี่ยนระบบรถไฟฟ้าระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ประมาณ 15 บาท และหากประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าทั้งขาไปและกลับ จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายค่าแรกเข้าประมาณ 30 บาทต่อวัน หรือราว 600 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม หากมีความคืบหน้าหรือความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม ทีมข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” จะนำมาอัพเดตให้ทราบ และสรุปให้ฟังแบบชัด ๆ อีกครั้ง

ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.7 ได้ที่ https://youtu.be/glfBA_T-GXg