เงินบาทอ่อนค่า นักลงทุนจับตารัฐบาลแถลงนโยบายสัปดาห์นี้

เงินบาท ธนบัตรไทย
REUTERS/Athit Perawongmetha

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือน ตามภาพรวมสกุลเงินภูมิภาคและเงินหยวน ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าคาด นักลงทุนรอจับตาการแถลงนโยบายรัฐบาลในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน

วันที่ 10 กันยายน 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 35.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวกลับมาบางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลงสอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก การอ่อนค่าของเงินหยวนและสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชียท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับยังมีแรงกดดันต่อเนื่องจากสถานะขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้เงินดอลลาร์ยังมีแรงหนุนจากบอนด์ยีลด์ระยะสั้นของสหรัฐที่ขยับขึ้น และการที่ตลาดกลับมาทบทวนมุมมองที่มีต่อโอกาสความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องอีกในการประชุม FOMC รอบที่เหลือของปีนี้ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด อาทิ ดัชนี ISM ภาคบริการเดือน ส.ค. และข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

กราฟค่าเงินบาท

ในวันศุกร์ที่ 8 ก.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 ก.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 4-8 ก.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,733 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 7,871 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 7,371 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 500 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (11-15 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.20-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายละเอียดของนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ (แถลงนโยบายวันที่ 11 ก.ย. 66) ทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน

ADVERTISMENT

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อจากมุมมองผู้บริโภคเดือน ก.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม ECB และตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ส.ค. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก อัตราการว่างงาน และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรด้วยเช่นกัน

ADVERTISMENT

ส่วนความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยร่วงลงแรงในช่วงต้นสัปดาห์สวนทางหุ้นภูมิภาค โดยเผชิญแรงขายหลักจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน นำโดย หุ้นกลุ่มพลังงานจากความกังวลเรื่องนโยบายลดค่าครองชีพและข่าวน้ำมันดิบรั่วไหล

อย่างไรก็ดีหุ้นไทยขยับขึ้นเล็กน้อยและเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคปบางกลุ่มเข้ามาช่วยประคอง โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน หลังซาอุดีอาระเบียและรัสเซียขยายเวลาการลดกำลังการผลิตถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่นักลงทุนยังรอติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาลในสัปดาห์หน้า พร้อม ๆ กับการประเมินแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ

กราฟตลาดหุ้นไทย

ในวันศุกร์ที่ 8 ก.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,547.17 จุด ลดลง 0.92% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 44,248.84 ล้านบาท ลดลง 26.91% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.80% มาปิดที่ระดับ 480.70 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-15 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,540 และ 1,530 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,565 และ 1,580 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดค้าปลีกเดือน ส.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม ECB ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ส.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร