สภาพัฒน์ชู 3 แนวคิดเปลี่ยนผ่านประเทศไทย มีภูมิคุ้มกัน-เติบโตยั่งยืน

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

สภาพัฒน์ชี้ประเทศไทยต้องเผชิญความเสี่ยงหลายปัจจัย ทั้งในระยะสั้น-ระยะยาว พร้อมปักธง 3 แนวคิดในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

วันที่ 18 กันยายน 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเผชิญความไม่ปกติมาตลอดตั้งแต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และในอนาคตข้างหน้าก็ยังคงต้องเจอกับความไม่ปกติแบบนี้อยู่ และก็ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ ซึ่งหลายอย่างคาดการณ์ได้ และหลายอย่างก็ไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้ จึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องเจอในอนาคต

โดยจากข้อมูลสิ่งที่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าประเทศไทยยังต้องเผชิญมีอยู่แน่นอนคือ เรื่องของความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากเรื่องของเงินเฟ้อต่าง ๆ ที่ยังอยู่ในระดับสูงในบางภูมิภาค ย้อนไปในปี 2565 จากการที่หลาย ๆ คนคาดการณ์ว่าสหรัฐจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากเงินเฟ้อที่สูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ต่อเนื่อง แต่มาวันนี้สิ่งที่คาดการณ์เปลี่ยนไปหลายคนมองว่าโอกาสที่สหรัฐจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยน้อยลงมากแล้วเพราะทุกอย่างเริ่มอยู่ในลักษณะของการเป็น Soft Landing แต่นี่คือแค่สหรัฐประเทศเดียวในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ก็ยังมีปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรปหรือประเทศจีนที่ยังมีเผชิญปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าปัญหามันลึกและกว้างแค่ไหน

ขณะเดียวกันในเรื่องของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีความถี่และมีความรุนแรงมากขึ้น  ซึ่งปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาที่เข้ามากระทบเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งผลกระทบต่อการผลิตของภาคการเกษตรหรือความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ในอนาคต

เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ก็ยังเป็นปัญหาสำคัญ รวมถึงเรื่องของสังคมแบ่งขั้วก็เป็นปัญหาที่เกิดจากความก้าวหน้าของโซเชียลมีเดียที่ทำให้แต่ละคนรับข่าวสารได้แตกต่างกัน เกิดเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดจนเกิดเป็นความขัดแย้ง ถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องพยายามแก้ไขให้เกิดความรู้ความเข้าใจข่าวสารโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน

ขณะที่ปัญหาในช่วง 10 ปีข้างหน้า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง เรื่องของความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อาจจะไม่ได้หยุดอยู่ที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) คงมีอะไรที่ต้องก้าวไปไกลมากกว่านี้ในอนาคต ซึ่งความก้าวหน้านี้เป็นทั้งผลในเชิงบวกและลบ จึงต้องคิดต่อว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้การทำงานทั้งภาคธุรกิจและรัฐบาลเดินต่อไปได้ รวมถึงเรื่องของการย้ายถิ่นแบบไม่สมัครใจ

Advertisment

จากปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทางสำนักงานจึงมองความเสี่ยงออกเป็น 5 ความเสี่ยงหลักที่ส่งผลต่อความมั่นคงของโลก ได้แก่
1.ระบบเศรษฐกิจผันผวน
2.สังคมเปราะบางไม่เท่าเทียม ขาดความสามารถในการฟื้นตัว
3.ทรัพยการขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เชื้อเพลิง ต้นทุนวัตถุดิบ
4.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สร้างความขัดแย้ง สงครามเศรษฐกิจ รวมถึงการก่อการร้าย
5.เทคโนโลยีก้าวหน้าแต่จารกรรมข้อมูลง่ายขึ้น

“ในอนาคตประเทศไทยควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โมเดลการพัฒนาที่เหมาะสมของประเทศไทยควรจะเป็นแบบไหน เราควรให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ได้ตัวเลขสูง ๆ หรือเติบโตแบบตัวเลขไม่สูงนัก แต่มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอกับสถานการณ์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และยังคงโตต่อไปได้เรื่อย ๆ”

Advertisment

ดังนั้นแนวคิดในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวมีทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่
1.ความท้าทายในการเผชิญความเสี่ยงของโลก
2.แนวคิดการเติบโตสีเขียว (Green Growth) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
3.แนวคิดการเติบโตอย่างมีส่วนรวม (Inclusive Growth) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม