
เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดจับตาผลการประชุมเฟด ล่าสุด CME Fed walch Tool ชี้นักลงทุนกว่า 99% คาดเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมรอบเดือนพ.ย.นี้
วันที่ 27 ตุลคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 24 ถึง 27 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันอังคาร (24/10) ที่ระดับ 36.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/10) ที่ระดับ 36.50/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะ 10 ปี ปรับตัวลดลงรุนแรง 3 วันติดต่อกัน ตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันอังคาร (20/10-24/10) หลังทะลุระดับ 5.0% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี
ซึ่งทางนายเจอโรมระบุว่า การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทำให้ภาวะการเงินตึงตัวและอาจส่งผลให้เฟดมีความจำเป็นน้อยลงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
โดยข้อมูลจาก CME Fed walch Tool ได้ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนกว่า 99% คาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% นอกจากนี้ นักลงทุนยังให้น้ำหนักกว่า 75% ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธันวาคมเช่นกัน
นักลงทุนจับตาประชุมเฟด
ทั้งนี้นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อประเมินทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยเจ้าหน้าที่เฟดเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. อย่างไรก็ตาม โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ หลังจากปรับตัวลงแรงในวันจันทร์ (23/10)
โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากความต้องการเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นเดียวกับทองคำ หลังนักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ทยอยประกาศออกมาตลอดทั้งสัปดาห์สะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง ช่วยหนุนแรงคาดหวังว่าเฟดอาจจะต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงต่อไปอีก
อาทิ เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.0 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 50.2 ในเดือนกันยายน ซึ่งดัชนี PMI อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้การขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐโดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน
ทั้งนี้ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 49.8 ในเดือน ก.ย. ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 50.1 ในเดือนกันยายน
นอกจากนี้ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี บ่งชี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐพุ่ง
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 12.3% สู่ระดับ 759,000 ยูนิต ในเดือนกันยายนเมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 และสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 680,000 ยูนิต จากระดับ 676,000 ยูนิตในเดือนสิงหาคม และเมื่อเทียบรายปียอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 33.9% ในเดือนกันยายน
นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ยของบ้านใหม่ลดลงสู่ระดับ 418,000 ดอลลาร์ในเดือนกันยายน ขณะที่สต็อกบ้านใหม่ลดลง 10.4% และเมื่อพิจารณายอดขายบ้าน และสต็อกบ้านในตลาด พบว่า ผู้ขายบ้านต้องใช้เวลา 6.9 เดือนในการขายบ้านจนหมดสต็อกในตลาด รวมถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2566 ของสหรัฐ ขยายตัวที่ 4.9% ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการณ์ครั้งที่ 1 สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าการขยายตัวของ GDP จะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 4.5%
ส่งออกไทย ก.ย.ขยายตัว
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือนกันยายน โดยการส่งออกมีมูลค่า 25,476 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งขยายตัวผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่ายอดส่งออกจะหดตัว 1.75% เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เช่น โซลาเซลล์ และโทรศัพท์มือถือ ขยายตัวต่อเนื่อง เพราะเป็นสินค้าที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ ส่วนทางด้านการนำเข้ามีมูลค่า 23,333 ล้านดอลลาร์ หดตัว 8.3% ส่งผลให้เดือนกันยายนไทยเกินดุลการค้า 2,093 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 การส่งออกมีมูลค่ารวม 213,069 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.8% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 218.902 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปี 2566 ไทยขาดดุลการค้า 5,833 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.07-36.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/10) ที่ระดับ 36.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันอังคาร (24/10) ที่ระดับ 1.0671/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/10) ที่ระดับ 1.0590/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเป็นผลมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เงินยูโรกลับตัวอ่อนค่าลงตั้งแต่วันอังคาร (24/10) ถึงปลายสัปดาห์
ECB คงดอกเบี้ยที่ 4.5%
โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 4.5% ในการประชุมวันพฤหัสบดี (26/10) ตามการคาดการณ์ของตลาด โดยเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 หลังก่อนหน้านี้ ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งติดต่อกัน รวม 4.5% หลังเงินเฟ้อในยูโรโซนชะลอตัวสู่ระดับ 4.3% ในเดือนกันยายน และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซน ร่วงลงสู่ระดับ 46.5 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563. และบ่งชี้กิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะหดตัว
ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0521-1.0694 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/10) ที่ระดับ 1.0554/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันอังคาร (24/10) ที่ระดับ 149.58/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/10) ที่ระดับ 149.94/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ Jibun Bank เปิดเผยผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนตุลาคมทรงตัวที่ระดับ 48.5 โดยตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงกิจกรรมภาคการผลิตญี่ปุ่นยังคงอยู่ในภาวะหดตัว หลังหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน
ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นลดลงสู่ระดับ 51.1 ในเดือนตุลาคมจากระดับ 53.8 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการเติบโตแบบชะลอตัวที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี ด้านดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้น ลดลงสู่ระดับ 49.9 ในเดือนตุลาคมจากระดับ 52.1 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม
นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หลังจากสื่อรายงานว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะทบทวนนโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) โดยอาจจะมีการปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อของญี่ปุ่นขึ้นสู่ระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ในการประชุมนโยบายการเงินซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ (30-31 ตุลาคม) เพื่อปูทางสู่การยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ
ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.32-150.77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/10) ที่ระดับ 150.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ